ว่าด้วยมนุษย์เงินเดือน 2020
ก่อนออกไปทำงานวันนี้…
สเปรย์แอลกอฮอล์ เอาใส่กระเป๋าไว้หรือยัง?
หน้ากากอนามัยหาซื้อไม่ได้ หน้ากากผ้าจะกันเชื้อโรคได้ไหมนะ?
คัดจมูกสุดพลัง ถ้าจามตอนนี้ มหาชนจะไล่เราลงจากรถไฟฟ้าไหมนะ?
ตึกข้าง ๆ มีคนติดเชื้อ COVID-19 แล้ว จะมีเชื้อหลงมาตึกเราบ้างไหมนะ?
เค้าจะปิดเมืองกันหรือยัง ถ้าซื้อของตุนตอนนี้จะยังทันไหมนะ?
เริ่มเจ็บคอ ตายล่ะ เราติดเชื้อหรือยัง?
.
.
.
ช่วงนี้ ในแต่ละวันก็จะมีคำถามประมาณนี้วนเวียนอยู่ในหัว จนเกิดแฮชแทคยอดฮิต #COVID-19หรือจะสู้Panic2020 หรือ #โอกาสติดไวรัส 1% โอกาสประสาทกิน 100% แฮชแทคตลกร้าย ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเรื่องจริงที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของผู้คนไม่น้อยเลยทีเดียว COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างต่อเนื่องและยังไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ไปอีกถึงเมื่อไร แต่ถ้าปล่อยให้ตัวเองวนเวียนอยู่ในความเครียด กังวล จิตตกต่อไปเรื่อย ๆ อีกไม่นานอาจจะพาลป่วยไปจริง ๆ แบบไม่ต้องโดนเชื้อ COVID-19 แน่ ๆ การเรียนรู้ที่จะรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงเท่า ๆ กับการรักษาสุขภาพกายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
.
A Cup of Culture รวบรวม 7 วิธีการรับมือกับความวิตกกังวลจาก COVID-19 ดังนี้
1. รู้เท่าทันตนเอง ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
.
อย่างที่กล่าวว่าอารมณ์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกายเสมอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เมื่อเราต้องนำเสนองานต่อหน้าคณะกรรมการจอมโหด แล้วมีความกังวลผสมตื่นเต้นจนเกิดอาการเหงื่อซึม ตัวสั่น มือสั่น เช่นเดียวกันกับการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความกังวลในช่วง COVID-19 ความวิตกกังวลนี้อาจทำให้เรารู้สึกไม่สบาย หมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอทั้งสุขภาพจิตใจ และสุขภาพกาย และอาการเจ็บป่วยที่เรารู้สึกว่าเป็นอาการที่เข้าข่าย หรือเป็นเพราะว่าเรากังวลมากเกินไป
.
.
.
2. เสพข่าวอย่างมีสติ
.
ทุกวันนี้มีแต่เรื่อง COVID-19 เต็มหน้า Feed ไปหมด ไหนจะข่าวซุบซิบจากที่ทำงาน เพื่อนพ้อง ญาติมิตรอีก อย่าลืมว่า Social Media เป็นช่องทางของผู้คนมากมาย ที่รวมทั้งข้อเท็จจริง และการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่หลากหลาย และแตกต่าง ซึ่งมักเป็นเหตุให้ผู้อ่านเกิดความเครียดและกังวลเพิ่มขึ้นไปอีกโดยไม่จำเป็น แต่จะปล่อยผ่านไม่รู้ไม่เห็นเลยก็คงจะไม่ได้ วิธีที่อาจทำได้คือ เลือกช่องทางที่น่าเชื่อถือ และระยะเวลาในการรับข่าวสารในแต่ละวัน เช่น เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการรายงานสรุปสถานการณ์ในแต่ละวัน รวมถึงคำแนะนำสำหรับประชาชน หรือช่องทางที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ เพื่อรับข่าวสารแต่พอดี เพื่อการเฝ้าระวังและเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม
.
.
.
3. วางแผนไว้ก่อน
.
ความวิตกกังวลมักมาจากความกลัว ความไม่รู้ ความไม่แน่นอน หรือรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ เพราะในช่วงเวลาแห่งความกังวลนั้นสมองของเราได้ทำงานโดยอัตโนมัติและโดยปกติจะตั้งสมมติฐานในเชิงลบที่สุดไว้ก่อนเสมอ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น ลองใช้เวลาในการหาข้อมูล และวางแผนเผื่อไว้ก่อนเพื่อลด “ความไม่แน่นอน” ตั้งแต่วิธีการป้องกันภายในบ้าน การป้องกันระหว่างเดินทาง การเตรียมของใช้ที่จำเป็นหรืออาหารสำหรับ 2-3 สัปดาห์เผื่อกรณีฉุกเฉิน แม้กระทั่งการวางแผนในกรณีที่เราหรือคนในครอบครัวเกิดอาการป่วย เช่น ระดับใดจึงต้องไปพบแพทย์ ที่ไหน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลส่วนตัวให้พร้อมเช่น ระยะเวลา ลักษณะอาการ และสถานที่ที่เราไปในช่วง 14 วันที่ผ่านมา การเตรียมการเมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวต้องเข้ารับการรักษา และสื่อสารกับคนในครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจในการเตรียมการ และสร้างความมั่นใจร่วมกัน การวางแผนเท่าที่จะทำได้จะช่วยลดความกังวล และลดความเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น
.
.
.
4. ดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น
.
ความกังวลและความเครียดทำให้ภูมิต้านทานลดลง ดังนั้นช่วงนี้จึงควรให้ความสำคัญกับการใส่ใจในการดูและรักษาสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกายง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น โยคะ แพลงก์ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยในเรื่องสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อป้องกันไวรัสร้ายได้เป็นอย่างดี
.
.
.
5. เชื่อมต่อกับผู้คนอย่างพอดี
.
ใช้เวลากับครอบครัว หรือผู้คนรอบตัว พูดคุยถึงความกังวลของแต่ละคนบ้าง เพื่อความผ่อนคลายในสภาวะที่ตึงเครียด รวมถึงให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าลืมทำความเข้าใจว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนข่าวสารแต่พอดี เปิดรับต่อความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและการป้องกัน ส่วนความเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และควบคุมไม่ได้ โปรดปล่อยผ่านไปก่อน
.
.
.
6. ให้เวลาดี ๆ กับตัวเองบ้าง
.
หาเวลาให้กับตัวเองอย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน ในการสรรหาหรือทำสิ่งดี ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจท่ามกลางสถานการณ์แห่งความวิตกกังวลนี้ เช่น การนั่งสมาธิ การเขียนข้อความขอบคุณ หรือแสดงความห่วงใยต่อเพื่อน ๆ การทำอาหารเมนูที่ชอบ หรือการฟัง Podcast เพื่อเรียนรู้สิ่ง ใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกวิธีในการช่วยให้จิตใจแข็งแรง แทนที่จะดำดิ่งลงในสถานการณ์ที่วุ่นวาย
.
.
.
7. พูดคุยกับตัวเองบ้าง
.
ด้วยสถานการณ์ตอนนี้อาจส่งผลให้แผนการต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โครงการหยุดชะงัก ลูกค้าเลื่อนนัด แผนเที่ยวล่มตลอดปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจมอยู่กับความผิดหวัง เครียด กังวลนานเกินไปไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น พยายามคิดถึงข้อเท็จจริง สิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ และข้อดีของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วางแผนสิ่งที่ต้องทำใหม่ และไม่ลืมที่จะพูดคุยกับตัวเองเสมอเช่น “ฉันคิดมาอย่างดีแล้ว” “ฉันกำลังทำในสิ่งที่ดีที่สุด” “สิ่งที่ฉันจะทำต่อไปคือ…” การพูดคุยกับตัวเองอาจฟังดูเพี้ยน แต่ในทางจิตวิทยาจะช่วยให้เรามีสติ และก้าวต่อไปได้
.
.
.
COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ส่งผลกระทบในวงกว้าง และยากต่อการควบคุม ในสถานการณ์แบบนี้สติสำคัญที่สุด นึกถึงการสาธิตการสวมหน้ากากออกซิเจนในกรณีฉุกเฉินบนเครื่องบิน ดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดก่อน ทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายเพื่อให้สามารถดูแลและช่วยเหลือคนรอบ ๆ ข้างได้ แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
.
.
A Cup of Culture
.
.
ที่มาของบทความ
https://medium.com/wake-up-call/8-ways-to-manage-your-coronavirus-related-anxiety-5e43e1e4742
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/managing-stress-anxiety.html