Reshape Your Workplace Culture ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในที่ทำงานกันใหม่ ให้โดนใจคนทั้งองค์กร


เป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อถึงช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งที่เรามักทำกันคือ สรุปหรือทบทวนเรื่องราวต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายสิ่งที่อยากทำหรือสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลงในปีที่กำลังมาถึง ทีนี้ในแง่ขององค์กรหลายที่ก็ตั้งใจจะใช้ช่วงเวลานี้ในการเริ่มต้นพูดคุยหรือปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรกันใหม่


ทำไมคำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ถึงกลายมาเป็นพระเอกที่เราต้องพูดถึง เพราะวัฒนธรรมองค์กรคือ ตัวสะท้อนค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อที่มีร่วมกันของสมาชิกในองค์กร วัฒนธรรมองค์กรยังเป็นรากฐานของเป้าหมาย แผนกลยุทธ์ โครงสร้าง และแนวทางปฏิบัติ รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออกของคนในองค์กร ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของลูกค้า นักลงทุน และชุมชนรอบข้างที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง


ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่คนในองค์กรไม่เอาด้วยกับวัฒนธรรมองค์กร หรือไม่สนใจวิสัยทัศน์ที่ผู้นำองค์กรตั้งเป้าอยากจะไปถึง มันย่อมส่งผลกระทบต่อเส้นทางที่องค์กรกำลังจะไปอย่างแน่นอน ดังนั้น การเริ่มต้นปีใหม่จึงเหมือนเป็นสัญญาณที่ดี ในการจะรีเซ็ตหรือเริ่มต้นคุยกันใหม่เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกทุกคนในองค์กรจะเห็นภาพเดียวกับเราไปตลอด 4 ไตรมาสของปีที่จะมาถึง


::::::::::


ข้อมูลจากบทความของ Forbes โดยอ้างอิงข้อมูลจากคุณ Jessie De Lowe ซึ่งท่านเป็นโค้ชด้านการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่เคยทำงานให้กับองค์กรชั้นนำอย่าง Google, Amazon ได้กล่าวว่าปัญหาใหญ่สุดของการรีเซ็ตหรือเริ่มต้นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ คือ ไม่ใช่หัวหน้าหรือผู้นำองค์กรทุกคนจะมีธรรมชาติของนิสัยที่ชอบการเปลี่ยนแปลง และรู้สึกว่าการเริ่มต้น (Implement) สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องยาก ซึ่งบทบาทของคุณ Jessie คือการเข้าช่วยผู้นำองค์กรเหล่านั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น จากประสบการณ์ของเธอพบว่า 4 กลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่เธอแนะนำในการรีเซ็ตหรือเริ่มต้นใหม่กับคำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ได้แก่


1) วัฒนธรรม: ที่ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน


สภาวะ Burn out หากเกิดขึ้นกับตัวพนักงานแล้ว ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวล อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย สูญเสียแรงจูงใจ และรู้สึกสิ้นหวังในการทำงาน ดังนั้น หากเราคาดหวังให้องค์กรมีสุขภาพที่ดี คนในองค์กรก็ควรต้องมีสุขภาพที่ดีและอยู่ดีมีสุขก่อน วัฒนธรรมองค์ที่สนใจด้านความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน คือ วัฒนธรรมที่สนับสนุนให้พนักงานเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่แค่ในด้านอาชีพเท่านั้น แต่ในฐานะของบุคคลที่มีสุขภาพจิต มีร่างกาย มีอารมณ์ และมีจิตวิญญาณที่ดีด้วย


ดังนั้น ความอยู่ดีมีสุขของพนักงานคือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แทนที่จะลงทุนด้านการเทรนนิ่ง หรือเวิร์คช็อปที่เกี่ยวกับงานเพียงอย่างเดียว ควรเสริมหลักสูตรอบรมด้านการพัฒนาจิตใจ การเวิร์คช็อปทัศนคติเชิงบวก หรือหลักสูตรผู้นำสุขภาพดีในที่ทำงาน เป็นต้น


2) วัฒนธรรม: ที่ปลุกพลังงานเชิงบวก


ทฤษฎีควอนตัมได้พิสูจน์ว่า “ทุกสรรพสิ่งทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งมีชีวิตและไร้ชีวิตล้วนมีการสั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลา” (ซึ่งการสั่นสะเทือนก็สัมพันธ์กับพลังงานและความถี่ด้วยเช่นกัน) ดังนั้น ตัวมนุษย์เราเองจึงเปรียบเสมือนเครื่องที่ทำหน้าที่ทั้งรับ-ส่งพลังงาน ความถี่ และการสั่นสะเทือนแบบไร้สาย จึงแปลว่า หากตัวเราส่งออกพลังงานเชิงลบต่อทั้งตัวเองผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม เช่น ความกลัว ความโกรธ ความกังวล ความเบื่อหน่าย ก็มีแนวโน้มที่เราจะรับพลังงานเชิงลบกลับมาด้วยเช่นกัน


ดังนั้น ในแง่ของการปลุกพลังงานและเพิ่มไฟเชิงบวกให้ทีม เราจึงจำเป็นต้องส่งออกพลังงานเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้นๆ ด้วย ซึ่งข้อแนะนำคือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ อนุญาตให้คนทำงานมีปฏิสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการเปิดให้แสดงมุมมองความคิดเห็น มีข้อตกลงร่วมกัน และมีการสื่อสารที่ชัดเจน


3) วัฒนธรรม: ที่คุยจุดมุ่งหมายชัดเจนก่อนเริ่มต้น


พนักงานทุกระดับมองหา “WHY” ในการที่พวกเขาจะลงแรงลงเวลาในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อองค์กร การรู้ Why คือ การรู้จุดมุ่งหมายขององค์กร เพื่อจะสร้างจุดร่วมของเป้าหมายที่จะไป การไม่มีจุดมุ่งหมายก็เปรียบเหมือนคนที่ถูกเอาผ้าปิดตาไว้แล้วปล่อยให้เดินไปยังเป้าหมายด้วยตนเอง


ดังนั้น หากพนักงานไม่รู้จุดมุ่งหมาย (WHY) เขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่รู้ว่า… จะทำมันไปทำไม ไม่รู้ว่าเส้นชัยอยู่ตรงไหน ไม่รู้ทิศทางที่จะมุ่งไป จนอาจทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยและท้อ หรืออาจจะคิดว่าทำไปตั้งเยอะแล้วทำไมยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ฉะนั้น ขั้นแรกคือ ตั้งจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและทรงพลังก่อน ต่อด้วยสื่อสารออกไปให้พนักงานได้รับรู้ จากนั้นทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร กระตุ้นให้พนักงานตั้งเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายส่วนตนด้วย สุดท้ายต้องกำหนดช่วงเวลาที่จะกลับมาทบทวนหรือประเมินจุดมุ่งหมายนั่นร่วมกัน


4) วัฒนธรรม: ที่ทุกคนมีส่วนช่วยกันเขียนนิยามของคำว่า “ความสำเร็จ”


ใช้เวลาร่วมกับทีมในการให้นิยามของคำว่า “ความสำเร็จคืออะไร? ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงมุมมอง ออกความคิดเห็น เพื่อสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของคำ ๆ นี้ร่วมกันโดยขั้นตอนที่ควรทำต่อจากนี้คือ

– สร้างวิสัยทัศน์ที่มีความชัดเจน และระบุวิธีปฏิบัติที่ทำได้จริง

– กำหนดแผนงานและขั้นตอน กำหนดผู้รับผิดชอบ และกำหนดเวลา

– ชวนทีมเขียนอธิบายภาพที่จะเห็นและความรู้สึกที่จะรู้สึก เมื่อบรรลุเป้าหมายแต่ละข้อ

– สื่อสารประชาสัมพันธ์ตอกย้ำทิศทางที่องค์กรจะมุ่งไป


That’s a Wrap!
ดังนั้น ช่วงเวลาของการต้อนรับปีใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาและเป็นสัญลักษณ์ที่ดีในการเริ่มต้นพูดคุยหรือกำหนดทิศทางใหม่ๆ ซึ่งทั้ง 4 วิธีที่นำมาแนะนำในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1) ลงทุนกับความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน 2) ปลุกพลังงานและเพิ่มไฟเชิงบวก 3) ตั้งจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนและทรงพลัง และ 4) ร่วมกันเขียนนิยามของคำว่า “ความสำเร็จ” ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่น่าหยิบไปทดลองทำ


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

Share to
Related Posts:
Search

ORG Culture Canvas full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search