ตั้งแต่ความสำเร็จของภาพยนต์เรื่อง The Avengers หลาย ๆ ค่ายก็มีความพยายามในการสร้างจักรวาลภาพยนต์ของตัวเอง ดังเช่นล่าสุดที่กำลังเข้าโรงคือ Godzilla VS Kong ก็เป็นหนัง ’รวมพล’ ระหว่าง Godzilla และ King Kong ที่ทั้งคู่ก็ได้มีหนังเดี่ยวของตัวเองกันไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือในสายของซุปเปอร์ฮีโร่ส์เองก็มี Batman V Superman และ Justice League แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ณ จนปัจจุบันยังไม่มีค่ายไหนที่ประสบความสำเร็จได้ในระดับเดียวกับที่ Marvel ทำไว้ได้เลย
ด้วยความที่หนึ่งในสิ่งสำคัญของการสร้างภาพยนต์ที่มีจุดเชื่อมโยงถึงกัน ความสอดคล้อง และความต่อเนื่องของเนื้อหาแม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อหนังสไตล์นี้สุด ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแตกต่าง และความหลากหลายมากพอให้ไม่เกิดสูตรสำเร็จที่จำเจจนทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องไหน ๆ ก็เหมือนกัน เช่น คนที่ดู Black Panther ต้องไม่รู้สึกเหมือนกำลังดู Iron Man อยู่
Kevin Feige ประธานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Marvel เล่าว่า “เราเชื่อในการขยายขอบเขตของหนังมาร์เวลขึ้นไปเรื่อย ๆ เราพยายามให้ผู้ชมกลับมาดูหนังของเรามากขึ้นโดยการทำอะไรที่พวกเขาจะไม่คาดคิด ไม่ใช่เพียงแค่การทำตามแบบแผนเดิม ๆ” และเหมือนคีย์หลักของความสำเร็จนี้มาจากการหาจุดสมดุลย์ระหว่างการสร้างภาพยนต์ที่มีความ Innovative แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสอดคล้องและความต่อเนื่องไว้ให้รู้สึกว่ายังเป็นหนังตระกูลเดียวกันอยู่ และนั่นก็ทำให้ Marvel ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่ยังไม่มีค่ายไหนทำได้แม้ในช่วงตลอดสิบปีที่ผ่านมีหลาย ๆ สตูดิโอพยายามจะลอกเลียนแบบสูตรความสำเร็จนี้
เพื่อที่จะตอบคำถามว่ามาร์เวลทำได้ยังไง Harvard Business Review ได้รวบรวมข้อมูลจากภาพยนต์ทั้ง 20 เรื่องที่ออกมาจึงถึงสิ้นปี 2018 พร้อมกับสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ถอดเทปสัมภาษณ์เก่า ๆ รวมถึงสำรวจและวิเคราะห์นักแสดง และทีมงานกองถ่าย จนพบกับ 2 ปัจจัยหลักที่ภาพยนต์ Marvel ทุกเรื่องมีร่วมกัน ดังนี้
.
.
1. ท้าทายสูตรสำเร็จ
ผู้กำกับมาร์เวลทุกคนพูดได้เต็มปากถึงความเต็มใจในการทิ้งไอเดียเก่า ๆ ได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งสูตรสำเร็จที่เคยใช้มาแล้วเวิร์คแค่ไหนก็ตาม หากดูจากหลักฐานในด้านของตัวหนังเองเราจะพบว่าในเบื้องต้นแล้วหนัง Marvel ทุกเรื่องเป็นหนัง Superheroes มีตัวร้ายที่มีพลังพิเศษ และตอนท้ายมักจะจบด้วยกันต่อสู้ที่มี Visual Effect ที่ตระการตา แต่นั่นเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะเมื่อมองให้ลึกมากขึ้นจะพบกับความแตกต่างที่ทำให้หนัง Marvel แต่ละเรื่องมีความเฉพาะตัวพอให้คนดูไม่รู้สึกว่ากำลังดูหนังเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไป ซ้ำมา
เริ่มจากการวิเคราะห์สคริปต์จะพบว่าแต่ละเรื่องจะให้อารมณ์ความรู้สึกในหนังแตกต่างกัน เช่น Iron Man จะเน้นอารมณ์ขันมาก ๆ ในขณะที่ Black Panther จะมีโทนที่ Dark กว่าและดราม่ากว่า นอกจากนั้นในด้านภาพแสดงสีเสียงแต่ละเรื่องจะมี Setting ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาที่ทุกคนคุ้นเคย ประเทศสมมติในแอฟริกา หรืออวกาศที่เต็มไปด้วยเอเลี่ยนแปลก ๆ และองค์ประกอบที่ทำให้หนัง Marvel ได้รับเสียงตอบรับดีจากนักวิจารณ์คือการแหกกฏของความเป็นหนัง Superheroes เดิม ๆ ตั้งแต่ Iron Man ที่ตัวละครที่ลึก และมีความเป็นคน Guardian of the Galaxy ที่มีเพลงเป็นเอกลักษณ์ หรือ Black Panther ที่มีความเสียดสีสังคม และการเมือง
และผลลัพท์ของมันคือไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชมจะรับได้กับการลองผิดลองถูกของ Marvel แต่มันยังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพยนต์ของค่ายนี้ ที่ทำให้แฟน ๆ เข้าไปมองหาบางอย่างที่ต่างออกไป และในทางตรงกันข้ามนี่เป็นจุดที่ทำให้แฟรนไชส์หนังหลายเรื่องที่พยายามยึดติดกับสูตรสำเร็จนั้นมักจะติดกับดักตัวเองเมื่อพวกเขาพยายามจะกลับลำแล้วทดลองอะไรใหม่ ๆ การลองผิดลองถูกแบบนี้นอกจาก Marvel แล้วองค์กรอย่างเช่น Zara ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะ Zara ก็มีการออกเสื้อผ้าตามเทรนด์เป็นช่วงสั้น ๆ นั่นทำให้ขณะที่ลูกค้าจะเข้าแบรนด์อื่นเฉลี่ย 2 – 3 ครั้งต่อปี การลองผิดลองถูกนี้ทำให้ Zara มีลูกค้าเข้าโดยเฉลี่ยถึง 10 ครั้งต่อปี ด้วยความคาดหวังต่อสิ่งใหม่ ๆ
.
.
2. ให้เกียรติแฟน ๆ อย่างจริงจัง
Marvel มีกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า และดึงพวกเขามามีส่วนร่วมได้ในระดับสูงสุดคือมีฐานะเป็น Co-Producer ได้เลยผ่านการใช้ Social Media ในการสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอและ และยังให้ผู้กำกับ รวมถึงนักแสดงให้ Social Media ของตัวเองเป็นอีกช่องทางในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า และ แฟน ๆ กันอย่างเต็มที่
อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ Marvel ที่ผู้ชมจะคุ้นเคยกันดีคือการมีสิ่งที่เรียกว่า Easter Egg ซ่อนอยู่ในหนังทุก ๆ เรื่อง รวมถึงการมี Post-credit Scene อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แฟน ๆ ได้มีส่วนร่วมในการมองหา และพูดคุยถึงสิ่งที่พบเจอในหนัง นึกถึงเวลาที่เราไปดูหนังกับคนอื่นแล้วเขามีคำถามที่เราสามารถตอบได้ การมี Easter Egg ที่ซ่อนอยู่ การมีการเชื่อมโยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้คนที่สังเกตเห็นมันรู้สึกอยากเล่า อยากตอบ อยากบอกต่อคนอื่น ๆ นั่นคือวิธีการ Empower ลูกค้าของ Marvel ที่สำคัญมาก ๆ
อุตสาหกรรมอื่นก็ใช้ประโยชน์จากเทคนิคนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Google ที่มีเกมส์ไดโนเสาวิ่งซ่อนอยู่เมื่อ Chrome เจอกับ error หรือหน้าตาค้นหาของ Google ที่เปลี่ยนไปตามเทศกาล นั่นเป็น 2 หลักการที่แกะออกมาจากหนัง Marvel ถึงองค์ประกอบที่ทำให้ ณ ปัจจุบัน เป็นองค์กรเดียวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวาลภาพยนต์ และอาจเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จที่สุดเลยก็ว่าได้ด้วยจนถึงปี 2021 นี้ Marvel Studio มีภาพยนต์ออกมาแล้ว 23 เรื่องที่ร้อยเรียงกันอย่างลงตัว โดยปัจจุบันรายได้รวมจากการขายตั๋วอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และโดยที่หนัง 1 เรื่องจะทำรายได้โดยเฉลี่ยคือ 1 พันล้านดอลลาร์ โดยไม่มีเรื่องไหนเลยที่ขาดทุน
แต่ทั้ง 2 หลักการนั้นก็อิงจากสินค้าเป็นหลัก และในอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่คนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานทุกคนมีอิทธิพลต่อผลลัพท์ Marvel Studio ก็มีหลักการที่ไม่เหมือนใครในการทำให้ทีมงานทุก ๆ คนเข้าใจตรงกัน ด้วยอีก 2 หลักการบริหารคนในแบบของ Marvel Studio ดังนี้
1) เลือกคนที่ขาดประสบการณ์ในหนัง Superheroes แต่มีประสบการณ์ในสไตล์ตัวเอง
ในวงการภาพยนต์ตัวตนของผู้กำกับมักเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำงาน แต่ในขณะที่หลาย ๆ สตูดิโอมองว่า ผลงานในอดีตจะเป็นตัวทำนายผลงานในอนาคตที่ดี มาร์เวลกลับทำตรงกันข้ามโดยแทนที่จะมองหาประสบการณ์ที่ตรงกับที่มาร์เวลเคยมี แต่เป็นมองหาคนที่มีประสบการณ์แบบที่มาร์เวลยังขาด จากผู้กำกับทั้ง 15 คนของมาร์เวล 14 คนไม่เคยมีประสบการณ์กำกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ส์มาก่อน และส่วนใหญ่มาจากการกำกับหนังอินดี้ในสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ Kevin Feige และ Marvel ก็เลือกคนเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้กำกับด้วยการมองเห็น Potential ในการดึงสไตล์ที่แตกต่างกันเข้ามาผสมผสานเข้ากับความเป็น Marvel จนกลายเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีสไตล์เป็นของตัวเองในแบบที่ผู้กำกับคนนั้นถนัด แต่คนดูยังคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นหนัง Marvel
ด้วยการที่ Marvel จะให้อิสระกับผู้กำกับในการกำหนดทิศทางของหนังได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับอิสระในการทดลองอะไรใหม่ ๆ ตาม Core Value หนึ่งของ Marvel ที่กล่าวไปข้างต้น และในขณะเดียวกัน Marvel Studio จะทำการบริหารในส่วนของ Visual Effect และ Logistic เป็นหลัก โดยที่มาของหลักการนี้มาจาก Kevin Feige ที่มองว่าการที่เขาเลือกผู้กำกับเข้ามาคือเลือกมาเพื่อช่วยให้สตูดิโอหาวิธีการทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว แต่นั่นก็ต้องหมายถึงว่าผู้กำกับทุกคนที่เข้ามาทำงานกับ Marvel ต้องมีความพร้อมที่จะลองอะไรใหม่ ๆ เช่นกัน นั่นหมายถึงการที่ทุกคนที่เข้ามาที่ Marvel นั้นคือ Value-added ให้กับองค์กรอย่างแท้จริง
2. มีแกนหลักที่เสถียร
อุตสาหกรรมหนังส่วนใหญ่จะมีการปรับเปลี่ยนทีมงานไปมา และน้อยนักที่จะพบทีมงานเดียวกันทำงานด้วยกันในโปรเจคเดิม แต่เพื่อการรักษาความสอดคล้องของเรื่องราวที่ร้อยเรียงกัน Marvel Studio จะพยายามดึงคนบางส่วนจากโปรเจคหนึ่งไปทำงานในโปรเจคถัดไปให้ได้เพื่อสร้างความเถียรภาพไปพร้อม ๆ กับดึง Talent ใหม่ ๆ เข้ามา นั่นช่วยสร้างสิ่งที่เฉพาะตัวของการทำงานใน Marvel ว่าเหมือนมีแรงดึงดูด เพราะ Talent ที่เข้ามาใหม่จะมีพื้นที่ให้ได้ทดลองไอเดียของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นในอดีตนักแสดงหนังรางวัลส่วนใหญ่มักเลี่ยงหนัง Superheroes แต่ Marvel กลับประสบความสำเร็จในการดึงนักแสดงรางวัลออสการ์หลายคนเข้ามาทำงานด้วย โดยพวกเขาเหล่านั้นเล่าว่าสิ่งที่ดึงดูดพวกเขาเข้ามาคืออิสระในการได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่ภาพยนต์ส่วนใหญ๋ไม่ได้ให้โอกาสพวกเขาได้ทำอะไรขนาดนี้ เพราะจะยึดกับไอเดียของผู้กำกับ และทีม Creative เป็นหลัก แต่ไม่ใช่ที่ Marvel
อิสระในการออกไอเดียด้านความคิดสร้างสรรค์ใน Marvel มีสูงถึงระดับที่นักแสดงหลายคนมีส่วนร่วมในการเขียนบท และผู้กำกับบางรายก็เคยรื้อบทมาแล้ว ฟังอย่างนี้อาจจะน่าคิดว่าทีม Creative เขาทนได้อย่างไรกับการถูกรุกล้ำขนาดนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะทีม Creative ของ Marvel แทนที่จะเลิกทำงานด้วย กลับแฮปปี้กับการมีส่วนร่วมของผู้กำกับ และนักแสดงนี้ ปรากฏการณ์นี้ในมุมของวัฒนธรรมองค์กรคือตัวอย่างที่ดีของการมี Core Value ที่ชัดเจนถึงการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ว่าทำไมทีม Creative ถึงได้เปิดรับสิ่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาเห็นความสำคัญของมัน และเชื่อในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ อย่างแท้จริง ทำให้การแก้บท หรือแม้แต่การรื้อจึงเป็นสิ่งที่พวกเขานอกจากจะเปิดรับแล้ว ยังแสวงหาด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้คือ 4 หลักการของวัฒนธรรมองค์กรในแบบของ Marvel ที่ทาง Havard Business Review ได้พยายามดึงออกมาคือในการผลิต 1. จะต้องมีการท้าทายสูตรสำเร็จ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และ 2. ให้เกียรติแฟน ๆ ผ่านการให้ easter egg และช่องทางการให้ความเห็น และในขณะเดียวกันมีการบริหารคนโดยการ 1. เลือกคนที่ไม่ต้องเคยทำหนัง Superheroes แต่มีสไตล์เป็นของตัวเองเพื่อเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับสตูดิโอ และ 2. คือมีทีมงานแกนกลางที่ไม่เปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะทีมงาน Creative ที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงได้ออกไอเดียกันได้อย่างเต็มที่
น่าเสียดายที่ทาง Marvel Studio ไม่ได้เปิดเผย Core Values ของตัวเองอย่างเป็นทางการว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่จากภายนอกเราสามารถสังเกตุได้อย่างชัดเจนถึงการทดลองสิ่งใหม่ ๆ และการรักษาเอกลักษณ์ ความต่อเนื่องในแบบของ Marvel ให้ยังคงอยู่ได้ อีกเรื่องน่ารู้ของ Marvel Studio คือ แม้จะถูก Disney ซื้อไปเป็นส่วนหนึ่งหลังจาก Iron Man เช่นเดียวกันกับ Pixar แต่ก็เช่นเดียวกันกับ Pixar Disney นั้นก็ให้อิสระในการบริหาร Marvel ในทุก ๆ ด้านรวมถึงวัฒนธรรมการทำงานกับ Kevin Feige เช่นเดิม
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
References:
https://hbr.org/2019/07/marvels-blockbuster-machine
https://medium.com/@huy_work/what-any-brand-can-learn-from-marvel-studios-15b40c39d324
https://www.the-numbers.com/movies/franchise/Marvel-Cinematic-Universe#tab=summary
.
.
>>>>