โอกาสของผู้นำในยามวิกฤติ
หากเปรียบสถานการณ์ COVID-19 เข้ากับหนังซักเรื่องหนึ่ง… อารมณ์คงคล้าย Avengers: Infinity War กับฉากดีดนิ้วของ Thanos เพียงครั้งเดียวก็เปลี่ยนโลกไปทั้งใบ นอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นแล้ว ดูเหมือนว่าการขยับตัวของ COVID-19 ยังก่อให้เกิดการปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ธุรกิจหลากหลายประเภทต้องหยุดชะงักเพื่อลดโอกาสในการแพร่ระบาดของไวรัส เริ่มจากธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว ตามมาด้วยการยกเลิกกิจกรรมที่มีการชุมนุมต่าง ๆ เช่น กีฬา คอนเสิร์ต และปิดสถานบันเทิง จนกระทั่งล่าสุดประเทศไทยเราได้เดินทางมาถึงจุดที่ต้องปิดสถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฟิตเนส และร้านให้บริการปลีกย่อยต่าง ๆ ไปอีกพักใหญ่เลยทีเดียว
.
.
เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนในทุกมิติของชีวิตไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมการเป็นอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้ที่ต้องรับบทหนักในการรับมือกับวิกฤตินี้ก็คือ “ผู้นำในหลากหลายธุรกิจ” ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ต้องยกระดับบทบาทของผู้นำอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอดขององค์กร รวมถึงการให้ความมั่นใจกับเหล่าพนักงานในเวลาที่ยากลำบากนี้
.
.
จากการศึกษาของ Dave Ulrich ปรมาจารย์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วมกับ Keith Lawrence ผู้ก่อตั้ง Sustaining Success Solution พบว่าผู้นำที่แตกต่างจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นธรรมชาติ และจะยิ่งเห็นได้ชัดในช่วงวิกฤติ เช่น
• การแสดงออกอย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป หรือเพิกเฉยจนเกินไป
• คำนึงถึงการดูแลทั้งด้านความอยู่รอดขององค์กร และพนักงาน
• สร้างความสมดุลระหว่างการตัดสินใจที่เด็ดขาด และการตัดสินใจอย่างรอบคอบ
• ตอบสนองต่อความท้าทายระยะสั้น และวางแผนสำหรับผลกระทบระยะยาว
วิกฤติอาจเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะเผชิญ แต่อีกมุมหนึ่งวิกฤติกลายเป็นโอกาสที่ทรงคุณค่าที่สุดสำหรับผู้นำในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความเชื่อมั่น ให้การสนับสนุน และกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในวิธีคิด การลงมือทำ และการให้คุณค่าในองค์กร
.
.
Dave Ulrich และ Keith Lawrence ยังได้เสนอแนะหลักการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้นำในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ดังต่อไปนี้
1. ยึดมั่นในค่านิยม (Core Values) ว่ากันว่าคนเรามักจะอุทานออกมาเป็นภาษาแม่ เช่นเดียวกับ การคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติโดยยึดมั่นในค่านิยมขององค์กรในยามวิกฤติ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อื่นรับรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้นำให้ความสำคัญอย่างแท้จริง และไม่ลืมที่จะสื่อสารโดยเชื่อมโยงกับค่านิยมให้พนักงานได้รับรู้อย่างชัดเจน และเชื่อมต่อกับพนักงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
.
.
2. สื่อสาร สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า นักลงทุน คู่ค้า และชุมชน และเรียนรู้ถึงสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคที่แต่ละฝ่ายต้องเผชิญ แสดงความชัดเจนท่ามกลางความสับสน มองหาสถานการณ์ที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น รักษาสมดุลระหว่างการมองโลกตามความเป็นจริงและการมองโลกในแง่ดี แยกแยะสิ่งที่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ ลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตและพยายามปรับเปลี่ยนความกังวลนั้นไปสู่พลังในการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุก
.
.
3. ใช้จุดแข็ง นอกเหนือจากค่านิยมแล้ว ทบทวนถึงจุดแข็งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ เช่น กลยุทธ์ และสมรรถนะหลักขององค์กร ตัดสินใจโดยใช้ประโยชน์จากความสามารถเฉพาะที่องค์กรมี และไม่ลืมที่จะสำรวจจุดอ่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
.
.
4. ดำเนินงานอย่างดีที่สุด ปรับเปลี่ยนการส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าให้ดียิ่งกว่าในสถานการณ์ปกติ ตั้งแต่การปรับเป้าหมาย และการวัดผลที่ชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญ การวางแผน และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
.
.
5. ลดความซับซ้อน ทบทวนทุกแง่มุมในการบริหารภายใน เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น จำนวนผลิตภัณฑ์ ระบบโครงสร้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ลดหรือสร้างกฎกติกาใหม่ ๆ ไม่เพียงแต่เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่อาจเป็นการทบทวนเพื่อหาช่องว่างในการพัฒนาการใช้เวลา และพลังงานอย่างมีคุณค่า
.
.
6. ลงทุนสำหรับอนาคต มองหาโอกาส และสนับสนุนการริเริ่มความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ การบริการ ทำเลการค้า รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงาน เพื่อโอกาสในการอยู่รอดหรือเพิ่มมูลค่าในช่วงวิกฤติ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
.
.
7. ดูแลตัวเองและคนอื่น ๆ ช่วงวิกฤติคือ ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่จะต้องพยายามก้าวข้ามผ่านไปท่ามกลางความเครียด ความต้องการ และความคาดหวังมากมาย ผู้นำต้องเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อนำองค์กรได้อย่างมั่นใจและมีสติ ให้เวลาเพื่อ “การดูแล” อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความไว้วางใจ เป็นตัวอย่างให้พนักงานดูแลซึ่งกันและกัน ฝึกทักษะในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ความคล่องตัว รวมถึงการจัดการกับความเครียด และไม่ลืมที่ฉลองความสำเร็จร่วมกันเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานในวันที่ผ่านพ้นวิกฤติ
.
.
A Cup of Culture ขอเป็นกำลังใจกับทุก ๆ ท่าน โดยเฉพาะผู้นำของทุกองค์กรที่ต้องดูแลทั้งองค์กรและพนักงานในช่วงวิกฤตินี้ เราจะผ่านวิกฤติ COVID-19 นี้ไปด้วยกัน
ที่มาของบทความ
https://www.linkedin.com/pulse/leadership-confidence-times-uncertainty-dave-ulrich