ในช่วงนี้หลาย ๆ ธุรกิจกำลังเริ่มกลับมาดำเนินการในระดับปกติอีกครั้งกันในหลาย ๆ อุตสาหกรรมแล้ว แต่ด้วยการนี้แหละพนักงานหลายคนเองก็กำลังรู้สึกกังวลอยู่เช่นกัน เพราะจากการสำรวจของ PwC จากพนักงาน 1100 คนพบว่า พนักงานร้อยละ 70 ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
แม้ในกระแสของโลกตอนนี้ที่ไทยไม่ค่อยน่าเป็นห่วงสักเท่าไหร่นัก แต่ในประเทศอื่น ๆ ก็มีความแตกต่างกันไป บางที่ติดมากขึ้น บางที่เริ่มผ่อนปรนแล้ว โดยเฉพาะในประเทศที่มีมาตรการผ่อนปรนมากขึ้นดังเช่นประเทศไทยก็ทำให้ธุรกิจหลายแห่งมีโจทย์เข้ามาว่าเราจะเริ่มกลับมาปกติแล้วดีไหม
• สมองคนในช่วง COVID-19 ผ่านมุมมองแบบ Neuroscience
ในขณะเราต้องเริ่มการทำงานแบบ Work-from-home ทำให้เราหลายคนต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใหม่ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และความไม่คุ้นเคยเหล่านั้นทำให้สมองเราเข้าสู่ survival mode หรือโหมดเอาตัวรอด เราเริ่มต้องคิดเยอะ ต้องสรรหาวิธีการปรับตัว และหาทางแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เพราะเป็นสภาวะที่เราไม่มีอะไรมาคอยไกด์ หรือเราเรียกสมองในช่วง work-from-home สั้น ๆ ว่าโหมด “ที่เราจะไม่รู้ว่าอะไรมันจะเป็นยังไง ดังนั้นเราเลยต้องทำให้ดีที่สุดไว้ก่อน” นี่คือวิธีที่สมองคนเรารับมือกับอะไรที่ไม่คุ้นเคย
ปัญหาคือเมื่อคนเราที่สมองยังค้างอยู่ในโหมดเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เขาต้องกลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอีกครั้ง แต่ความคุ้นเคยเหล่านั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว เช่น มาตรการใหม่ การจัดออฟฟิศใหม่ การประชุมแบบ social-distancing ต่าง ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อความคุ้นเคยกลายเป็นความไม่คุ้นเคยสมองเราก็จะต้องเข้าสู่โหมดเอาตัวรอดยิ่งกว่าเดิมเพราะสมองกำลังต้องเรียนรู้ระบบใหม่ทั้งหมดในสภาวะที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ความคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคย”
ดังนั้นในขณะที่เรากำลังต้องเตรียมคนกลับเข้าสู่โลกใบใหม่หรือ New Normal ก็มีสิ่งที่เราพอทำได้เพื่อลดผลกระทบจากความคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคยนี้
• เคลียร์ระบบการประสานงานให้ชัด
เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาวิ่งใหม่อีกครั้ง มันจะมีรายละเอียดเต็มไปหมดโดยเฉพาะในการประสานงาน ตั้งแต่ภายในองค์กร และ นอกองค์กร ตั้งแต่แผนกต่าง ๆ จนไปถึง partner และ suppliers ที่แต่ละที่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน และมาตรการที่เปลี่ยนไปในระหว่างช่วง work-from-home นี้ พนักงานที่เริ่มการประสานงานอีกครั้งเมื่อเจอความแตกต่างที่ต่างที่ต่างปรับตัวไปมาแล้วจะส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเอง “ทำงานไม่เป็น” ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มวิ่งแบบเต็มสูบอีกครั้ง องค์กรควรให้ความสำคัญกับวางแนวทางการทำงานระหว่างแผนก และระหว่าง supplier กันให้ชัดเจนก่อนที่จะให้พนักงานเริ่มงานแบบเต็มสูบ
แต่ถึงจะวางแนวทางมาอย่างดีแค่ไหน เราต้องไม่ลืมว่ามันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ดังนั้นแนวทางการทำงานต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างตลอดเวลา อีกสิ่งที่พนักงานจะรู้สึกหลังกลับมาทำงานในสภาวะนี้คือคำถามว่า “เขาจะเอายังไงกันแน่” หรือ “เมื่อไหร่เขาจะตกลงกันเสร็จ” สิ่งที่ผู้นำควรทำคือสื่อสาร และจัดการความคาดหวังให้ตรงกันทุกฝ่ายว่าตอนนี้เรากำลังต้องปรับเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา และพยายามให้แต่ละทีมมีการ check-in กันอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และจัดการกับข่าวลือต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่แน่นอนมาก ๆ ในสภาวะที่เราต้องปรับตัวให้กับความ “คุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคย”
• ดึงการมีส่วนร่วมจากพนักงานกลับคืนมา
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ เนื่องจากเมื่อต่างคนต่างกลับมาทำงานตามปกติมากขึ้นหลังจากอยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอนจากการทำงานที่บ้านในทันทีสมองที่ยังคงอยู่ใน Survial Mode และกลับเข้ามาสู่ความคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคย สมองของเราจะเป็นเหมือนสมองของ “ทหารผ่านศึก” จากที่แต่ละคนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และหาทางเอาตัวรอดกับมันด้วยทุกวิถีทาง และสุดท้ายเมื่อแต่ละคนต่างผ่านสมรภูมิที่แตกต่างกันของตัวเองมาส่วนที่ยากของการกลับเข้าสู่ออฟฟิศอีกครั้งคือ การที่ต่างคนขาดประสบการณ์ร่วมกันไปช่วงใหญ่เลยทีเดียว สิ่งที่ควรทำในช่วงของการเริ่มกลับมาทำงานคือเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานที่บ้านที่อยากจะแชร์ เรื่องราวของความท้าทายที่พบ และความสำเร็จที่แต่ละคนประสบกับช่วงระยะเวลาที่ห่างหายกันไป เพื่อนอกจากที่จะทำให้พนักงานกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกันอีกครั้ง ยังสร้างให้เกิด Learning ในองค์กรอีกด้วย
• ให้ความเข้าใจว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ในช่วงแรก
นอกจากนั้นในส่วนของมาตรการต่าง ๆ ในช่วงนี้ เราต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะในการกลับเข้ามาใหม่ก็จะมีโอกาสที่จะมีคนทำผิดพลาดกับมาตรการใหม่เสมอ เช่น เพื่อนร่วมงานเราบางคนลืมใส่หน้ากาก หรือ อีกคนใช้เจลล้างมือหมดแล้วลืมเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นสัญญาณของความเครียดของเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นการตอบสนองที่ดีจึงไม่ใช่การบ่นด่า แต่เป็นการให้ความเข้าใจ และอาจทำให้มันเปลี่ยนเรื่องตลกได้เช่นกัน เพราะแน่นอนว่าการมีมาตรการ และกฏเป็นเรื่องสำคัญ แต่วิธีการรักษามาตรการเหล่านั้นที่ดีไม่ใช่การสร้างความอับอายให้กับคนที่ผิดพลาด แต่เป็นการส่งเสริมผ่านการให้ความเข้าใจ ดังนั้นหน้าที่สำคัญของผู้นำในช่วงของการปรับตัวคือการเตือนสติพนักงานอย่างใจเย็น และเข้าใจว่าทุกคนจะมีเรื่องที่จะพลาดได้กับมาตรการใหม่ ๆ เหล่านี้รวมถึงตัวเราเองด้วย เราสามารถเล่าถึงความผิดพลาดของตัวเราเองให้เป็นเรื่องตลกได้เพื่อให้คนอื่นรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะยอมรับความผิดพลาดและปรับปรุง มากกว่าการกลัวจนไม่สามารถทำอะไรได้เลยซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในช่วงของการปรับตัวใหม่นี้ ดังนั้นอย่าลืมเตือนทุกคนว่าเราล้วนมีเจตนาดีแต่อาจจะผิดพลาดบ้างขอให้เข้าใจกัน แต่แน่นอนว่าถ้ามีใครจงใจขัดขืนเราก็ต้องใช้วิธีการจัดการอย่างจริงจัง
• ช่วยพนักงานหาแหล่งความหวังของตัวเอง
เมื่อกลับมาสู่สภาวะอันคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคย ในฐานะผู้นำเราจะมีคำถามเข้ามาเต็มไปหมดโดยเฉพาะคำถามที่เราไม่มีคำตอบให้ คำถามเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะจิตใจของพนักงานของเราที่กำลังมองหาความหวัง และความมั่นใจจากการถามคำถามเหล่านั้น ดังนั้นคำถามหลายอย่างที่เราไม่สามารถตอบได้นอกจากการเลี่ยงจะตอบ หรือการตอบส่ง ๆ ไปแล้วนั้น สิ่งที่ทำได้คือตั้งคำถามกลับไปสู่คำถามที่ลึกกว่านั้น และช่วยพนักงานให้เขาสามารถหาแหล่งความหวังของตัวเองได้
• ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง
ส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการดูแลตัวเองให้ดี แน่นอนว่าใคร ๆ ก็พูดแบบนี้ และเราเองก็รู้ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในช่วงของการ work-from-home ที่ผ่านมาก็ทำให้เรารู้จักขีดจำกัดของสมองเราได้มากขึ้นในสภาวะที่ไม่คุ้นเคย เมื่อกลับเข้าสู่การทำงานหลัง work-from-home ที่เป็นความคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคยแล้วสมองเรายิ่งต้องทำงานหนักขึ้น เพราะแม้แต่งานที่ปกติเราทำได้โดยแทบไม่ต้องคิดมากมันก็เปลี่ยนไปจนเราต้องกลับมาคิดกับมันอีกครั้ง ดังนั้นอย่าลืมกิจกรรมคลาสสิคเหล่านี้ครับ ออกกำลังกาย งานอาสาสมัคร งานอดิเรก เวลากับเพื่อนและคนรักจนะเป็นตัวช่วยให้สมองของเราได้พักจากสภาวะเหล่านี้ เพราะสำหรับผู้นำในตอนนี้แล้วทีมคุณต้องพึ่งคุณอย่างมาก
จนถึงตอนนี้แล้วต้องขอชื่นชมทุกท่านที่สามารถพาทีม และองค์กรผ่านวิกฤติมาได้จนใกล้จะปลายอุโมงค์กันแล้ว หลายที่ก็เปิดทำงานปกติไปสักพักแล้วอาจจะสามารถปรับข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ ส่วนใครที่กำลังจะเปิดก็อย่าลืมว่าโค้งสุดท้ายของการฝ่าวิกฤตินี้คือการพาทีมกลับเข้าสู่ “ความคุ้นเคยที่ไม่คุ้นเคย” ให้ได้
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture