เมื่อสมัครงาน เรามักจะเชื่อว่าด้วยประวัติการศึกษาและประสบการณ์สายตรงเท่านั้นที่จะทำให้เราได้งาน ซึ่งก็ถือเป็นข้อเท็จจริงแต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะแม้คุณสมบัติข้างต้นอาจทำให้ประวัติของเราสะดุดตาฝ่ายทรัพยากรบุคคลและถูก shortlisted เข้ามาสัมภาษณ์ก็จริง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะเป็นผู้ถูกเลือกในท้ายที่สุด
ยิ่งหากลองจินตนาการดูว่าหากมีแคนดิเดตคนอื่น ๆ ที่มีเส้นทางอาชีพพร้อมคุณสมบัติคล้ายเราแทบทุกประการแล้วล่ะก็ เราจะเริ่มตระหนักขึ้นมาทันทีว่าจุดตัดสินแพ้ชนะไม่ได้อยู่ที่ประวัติสวยหรูบนเรซูเม่อีกต่อไป หากแต่เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัว (personality traits) บางอย่างที่เราต้องแสดงออกมาระหว่างการสัมภาษณ์เพื่อให้ HR หรือว่าที่หัวหน้าเชื่อว่าเราจะเข้ากับองค์กรได้เป็นอย่างดี และคุณลักษณะที่ว่ามีสามข้อดังนี้
1. เป็นตัวของตัวเอง (Authenticity)
คุณลักษณะที่เราในฐานะผู้สมัครงานต้องแสดงออกมาให้เห็นตลอดการสัมภาษณ์ คือ การเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งคำ ๆ นี้ถือว่ามีความคลุมเครือพอสมควร เพราะอาจทำให้เราเข้าใจผิดเอาได้ว่าหมายถึงการคิดอะไรก็พูดก็ตอบออกไปอย่างนั้นโดยปราศจากการไตร่ตรอง จึงขอให้ระลึกเอาไว้เสมอว่าให้เป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด (be your best self)
คือตอบคำถามตามความคิดของตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม อย่างสอดคล้องไปกับคุณค่าและวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ๆ หมายความว่าเราต้องทำการบ้านว่าองค์กรกำลังมองหาอะไร และเลือกหยิบยกคุณค่าที่เรามีตรงกันกับองค์กรขึ้นมานำเสนอ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดตายที่จะทำให้เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องสร้างกำแพงขึ้นมาเป็นฉากบังหน้าและประดิษฐ์คำตอบให้เหมือนกับคนอื่น ๆ อย่างกับปลากระป๋องที่ออกมาจากสายการผลิตในโรงงาน (canned responses)
2. เต็มเปี่ยมด้วยพลังบวก (Positivity)
การส่งต่อพลังบวกไปยังกรรมการผู้สัมภาษณ์จะทำได้ง่ายขึ้นหากเราลองจินตนาการในหัวว่าระหว่างสัมภาษณ์คือการเล่นเกม ๆ หนึ่ง ซึ่งมีคะแนนความคิดบวกหรือ positivity index ตั้งแต่ +5 ไปจนถึง -5 โดยเริ่มต้นจากศูนย์คะแนน
เช่น เมื่อพูดคำว่า love หรือ absolutely มากก็จะยิ่งได้คะแนนบวกมาก ในทางกลับกันหากพูดคำว่า terrible หรือ difficult มาก คะแนนก็จะยิ่งติดลบ ด้วย framework ง่าย ๆ แค่นี้เราก็พอจะจินตนาการออกแล้วว่าต้องคุมโทนการตอบคำถามสัมภาษณ์อย่างไร คือ แทนที่จะเผลอพูดสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับอดีตนายจ้าง หรือกระทั่งว่าเรามีความลำบากอย่างไรจนต้องมาสมัครงานนี้
ก็เปลี่ยนเป็นโฟกัสเรื่องว่าเราชื่นชมอะไรในตัวบริษัทจนกระทั่งตัดสินใจมาสมัครงาน อะไรในวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เราอยากทำงานด้วย ตลอดจนปัจจัยอะไรในตำแหน่งงานที่ทำให้เรามั่นใจว่าจะทำอย่างยาวนานและมีความสุข กระทั่งยิงคำถามไม้ตายกลับไปที่กรรมการว่าพวกคุณชอบอะไรในบริษัทตัวเองก็จะยิ่งเสริมพลังบวกและสร้าง mood and tone ที่ดีตลอดการสัมภาษณ์
3. มั่นใจ (Confidence)
ความมั่นใจในการตอบคำถามเป็นอีกปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งทราบหรือไม่ว่าหลาย ๆ คนกระทั่งตัวเราเองเผลอคิดเอาว่ารากฐานที่ก่อให้เกิดความมั่นใจคือความเฉลียวฉลาด แต่อันที่จริง ในฐานะผู้สมัครงาน ความมั่นใจคือเครื่องสะท้อนการโฟกัสและเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีต่างหาก
โฟกัสอะไร ก็โฟกัสตั้งแต่กระบวนการหางานและเลือกตำแหน่งที่จะสมัคร ถ้าเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราสมัครงานในตำแหน่งที่เรามั่นใจมากว่าเหมาะสม เพียงขั้นแรกนี้เราก็มีความมั่นใจนำหน้าแล้วหลายขุม เมื่อเทียบกับผู้สมัครที่อาจจะเน้นการหว่านแหโดยดูจากชื่อตำแหน่งมากกว่าเนื้องาน และไม่ได้พิจารณาตนเองว่าเหมาะสมอย่างแท้จริงหรือไม่
การเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีทำอย่างไร ก็เริ่มจากการศึกษาตัวตนของบริษัทและตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมเราจึงเป็นตัวเต็งในครั้งนี้ คำตอบที่ได้ ให้นำมาเขียนเป็น key talking points และเกลาใจความสำคัญจนเรามั่นใจในระดับที่ว่า การสัมภาษณ์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะเป็นวาทยากรผู้ควบคุมความลื่นไหลของบทสนทนาเอง ทุก ๆ flow การพูดคุยให้ไหลไปตามความตั้งใจของเรา
เมื่อนำทั้งสามคุณลักษณะมาร้อยเรียงกันก็สามารถสรุปได้ว่าการเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด ทั้งยังเปี่ยมด้วยพลังบวกทางความคิดและทัศนคติ โดยถ่ายทอดออกมาได้อย่างมั่นใจและสอดคล้องไปกับคุณสมบัติที่องค์กรมองหา จะช่วยให้เราก้าวขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่งในการสัมภาษณ์งานทันที โดยหากเรามีพร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์เป็นต้นทุนอยู่แล้ว การนำเสนอทั้งสามคุณลักษณะข้างต้นออกไปด้วยอย่างครบถ้วนก็เปรียบได้ดั่งการเพิ่มสปอร์ตไลท์อีกสามดวงสาดส่องลงมาชนิดที่ทำให้เราโดดเด่นอยู่คนเดียวจนกรรมการลืมมองคนข้าง ๆ เลยทีเดียว
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.