นอกจากโควิดแล้วก็ความเหงานี่แหละที่ระบาดใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะรายงานล่าสุดจาก Gallup พบว่าคนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกไม่มีเพื่อนแม้แต่คนเดียว วันนี้เราจะมาดูกันว่าทำไมการมีเพื่อนในที่ทำงานถึงเป็นเรื่องสำคัญ และองค์กรจะช่วยสร้างมันได้อย่างไร
แม้ว่าหลาย ๆ องค์กรจะหันมาพยายามดูแลสุขภายกายและใจของพนักงานแล้วก็ตาม แต่องค์ประกอบในด้านสังคมยังคงเป็นหนึ่งในด้านที่ถูกเหลียวแลน้อยที่สุดจากผู้บริหาร โดยอ้างอิงจาก Gallup ที่พบว่าพนักงานเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเขามีเพื่อนในที่ทำงาน
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในปัจจุบันยังคงมีหลายองค์กรที่ติดกับความเชื่อที่ว่าพนักงานควรที่จะเก็บเรื่องส่วนตัวไว้นอกที่ทำงานเพื่อความเป็นมืออาชีพ และประสิทธิภาพการทำงาน ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลล่าสุดจาก Gallup พบว่าการที่พนักงานมีเพื่อนดี ๆ ในที่ทำงานนั้นส่งผลอย่างมากต่อความสำเร็จในธุรกิจ ทั้งในด้านของกำไร ความปลอดภัย และ retention
และไม่ว่าองค์กรเราจะเป็นแบบออฟไลน์ 100% ออนไลน์ 100% หรือแบบ Hybrid วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการมีเพื่อนในที่ทำงานล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งพนักงาน และองค์กรทั้งสิ้น ดังนั้นในด้านขององค์กรแล้วจึงควรที่จะมองหาวิธีการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนสามารถเติบโตขึ้นได้ภายในองค์กรของเรา โดยอาจเริ่มได้จากวิธีเหล่านี้
1. มีระบบบัดดี้
ทุกคนต้องการ buddy โดยเฉพาะในช่วงของการเริ่มงานที่ใหม่ การจับคู่พนักงานใหม่เข้ากับพนักงานเก่าจะช่วยให้การ onboarding มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนอกเหนือจากเรื่องของคำแนะนำเบื้องต้น buddy ยังเป็นประโยชน์กับพนักงานใหม่ในด้านของการช่วยให้ซึมซับวัฒนธรรมองค์กรได้ง่ายขึ้นด้วย รวมถึงช่วยให้การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในองค์กรเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความสัมพันธ์ในระยะยาว
และหลักการสำคัญของระบบ buddy คือความถี่ของการปฏิสัมพันธ์ ที่ Microsoft พบว่าถ้าพนักงานใหม่ได้เจอกับ buddy มากกว่า 8 ครั้งภายใน 90 วันแรก จะส่งผลให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับงานได้ดีขึ้น
2. เพิ่มเวลาเจอหน้ากันหน่อย
ก่อนช่วงโควิดที่ทำงานเป็นโอกาสให้เพื่อนร่วมงานได้จิบกาแฟ ทานอาหารกลางวัน หรือพบปะพูดคุยกันได้เรื่อย ๆ แต่แน่นอนว่าโดยเฉพาะคนที่เริ่มงานใหม่ในช่วงที่ผ่านมาก็จะไม่ได้มีโอกาสเหล่านั้น
แต่การสร้างมิตรภาพนั้นต้องอาศัยการพูดคุย พบปะ และใช้เวลาร่วมกัน วิธีที่ดีที่สุดจึงเป็นการสร้างโอกาสให้พนักงานได้พบปะพูดคุยกันแม้ว่าจะต้องผ่าน Zoom ก็ตาม โดยหลักการคือคุยกันให้มากขึ้น โดยนี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้นำองค์กรต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยสามารถทำได้โดยการส่งเสริมการทำงาน cross-fuction หรือจัด training ร่วม หรือการจัดงานพบปะสังสรรค์ในหลาย ๆ โอกาส
3.สร้างโอกาสให้ทำงานร่วมกัน
เมื่อพนักงานได้มีโอกาสมีเป้าหมายร่วมกัน และสร้างความสำเร็จไปด้วยกันพนักงานกลุ่มนั้นก็จะมีความสัมพันธ์ที่พิเศษเกิดขึ้น การได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเป็นพลังอย่างหนึ่ง
แน่นอนว่าไม่มากก็น้อยเราต่างเคยได้มีประสบการณ์ในลักษณะนั้น และนั่นคือสิ่งที่องค์กรควรจัดสรรให้พนักงานได้รับโอกาสแบบนั้นบ่อย ๆ โอกาสที่จะได้สัมผัสความรู้สึกดี และความภาคภูมิใจในการสร้างผลงานดี ๆ และ Gallup ก็พบว่าประสบการณ์เหล่านั้นจะส่งผลให้พนักงานเข้าถึงลูกค้า และคู่ค้าได้มากขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และเกิดบรรยากาศของการทำงานที่ปลอดภัย และเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ ๆ ที่พร้อมกับมีความสนุกในงาน
4.อย่าฝืน
สุดท้ายคืออย่าลืมว่าเราสามารถออกนโยบาย จัดอบรมได้ กำหนดเวลางานได้ แต่เราไม่สามารถที่จะบังคับให้คนเป็นเพื่อนกันได้ ดังนั้นองค์กรควรระวังไม่ให้การส่งเสริมความเป็นเพื่อนเป็นเรื่องที่ฝืนจนเกินไป และออกแบบกระบวนการนี้ในรูปแบบของการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้มิตรภาพเกิดขึ้น มากกว่าการบังคับ เพราะสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยคือการที่พนักงานเราเริ่มรู้สึกเกลียดงานสังสรรค์องค์กรขึ้นมาเมื่อเราฝืนมันมากไป
การเมินเฉยเรื่องความสัมพันธ์เปรียบเสมือนการไม่สนใจธรรมชาติมนุษย์ และเมื่อเกิดการปะทะระหว่างธรรมชาติมนุษย์กับนโยบายองค์กร แน่นอนว่าไม่ว่าอย่างไรธรรมชาติก็จะชนะ และงานวิจัยพบว่าพนักงานจะหาทางเข้าสังคมในแบบของตัวเอง ไม่ว่าองค์กรจะว่าอย่างไร ดังนั้นอาจเป็นการดีกว่าที่องค์กรจะใช้แรงขับนี้ให้เป็นประโยชน์ และเอื้อให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานงอกงามได้อย่างเต็มที่
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

https://hbr.org/2022/10/the-power-of-work-friends
