บทเรียนผ่านวิกฤติ Covid-19 ของบริษัทชั้นนำของจีน

ท่ามกลางวิกฤติ Covid-19 ที่ได้แพร่กระจายไปยังประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศจีนกลับทุเลาลง ภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวและดำเนินงานได้เกือบปกติ คำถามที่น่าสนใจคือ “บริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นในประเทศจีนเขาทำอย่างไร?” ถึงสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และกลับมาดำเนินงานได้อย่างทันที บทความจาก Harvard Business Review โดย Martin Reeves ได้ทำการศึกษาประเด็นนี้ และสิ่งที่เขาพบคือ
.
.
.

1) มองไปข้างหน้า และปรับเปลี่ยนแผนอย่างรวดเร็ว
.
หลักคิดคือ เมื่ออยู่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ สิ่งท่ีต้องมีคือ “แผนรับมือ” จากเดิมที่กระบวนการทำงานปกติมีหลายขั้นตอนและซับซ้อน ก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน ให้สั้น ให้กระชับ และรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะพบได้ว่าผู้นำบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศจีนที่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เขาก็จะมีแผนงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วด้วย ยกตัวอย่างเช่น Master Kong บริษัทชั้นนำด้านการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศจีน ซึ่งบริษัทของเขาได้เผชิญกับสถานการณ์กักตุนสินค้า ทำให้สินค้าของเขาที่วางขายตามสโตร์ต่าง ๆ ขาดตลาด ทาง Master Kong มองไปถึงการเสียประโยชน์ของผู้บริโภครายอื่น ๆ ที่จะได้ซื้อสินค้าของเขา และเห็นโอกาสที่เขาจะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้นด้วย เขาจึงปรับกลวิธีใหม่ ด้วยการใช้ระบบ O2O (online-to-offline) นั่นคือ การใช้ระบบออนไลน์เชื่อมต่อตรงกับผู้ค้ารายย่อยแทน โดยสามารถซื้อขายกันเองได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันเขาก็เปิดช่องทางการขายออนไลน์ให้กับลูกค้าทั่วไปด้วย เป็นต้น
.
.
.

2) ผสมผสานกันระหว่าง Bottom-up และ Top-down
.
โดยปกติแล้วสายการบัญชาในองค์กรมักจะเป็นในรูปแบบ “ผู้บริหารสูงสุดสู่พนักงาน” หรือจากบนลงล่าง แต่พออยู่ในสถานการณ์พิเศษ ระบบการบริหารจากบนลงล่างก็ยังจำเป็นอยู่โดยเฉพาะในเรื่องการตัดสินใจในภาพใหญ่ แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่หน้างานก็ต้องได้รับอำนาจพิเศษในการตัดสินใจได้ด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Huazhu ซึ่งบริหารเครือข่ายโรงแรมกว่า 6,000 แห่ง ใน 400 เมืองทั่วประเทศจีน  ได้ใช้ระบบแอพพริเคชั่นภายในองค์กรเชื่อมต่อตรงถึงพนักงานในเครือทุกคน เพื่อทำการส่งข้อมูลตรงจากส่วนกลางเพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนของข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นจากกระแสปากต่อปาก และยังเปิดโอกาสให้พนักงานส่งข่าวสารตรงถึงทีมบริหารส่วนกลางได้ด้วย เป็นต้น
.
.
.

3) ทำงานเชิงรุก
.
หลักคิดคือ เมื่อสถานการณ์ภายนอกวุ่นวาย สถานการณ์ภายในต้องไม่วุ่นวายไปด้วย และตัวปัญหาก่อความวุ่นวายเบอร์ 1 คือ “ความสับสนในข้อมูล” ฉะนั้น องค์กรจึงทำงานเชิงรุกด้วยการเป็นผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่พนักงานเอง ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของสถานการณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจว่าองค์กรพร้อมจะสนับสนุนและดูแล โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความชัดเจนและการเพิ่มความมั่นใจให้กับพนักงาน โดยเฉพาะในยุคสื่อสารออนไลน์ที่มีการปล่อยข่าวลวง การสร้างข้อมูลเท็จมากมาย อย่าเช่น เคสของ “Supor” บริษัทชั้นนำในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องครัวต่าง ๆ เขารู้ดีเลยว่า ในช่วงสถานการณ์ที่วุ่นวายนี้ ปัญหาเบอร์ 1 ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ “ความสับสนในข้อมูล” ฉะนั้น เขาจึงทำงานเชิงรุกด้วยการเป็นผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่พนักงานเอง ไม่ใช่แค่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อตัวพนักงาน แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่าง ๆ ที่มองมายังองค์กรนี้ด้วย
.
.
.

4) โยกย้ายกำลังพล
.
สถานการณ์นี้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยว บางแห่งจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานและปิดตัวชั่วคราว ซึ่งก็เกิดคำถามตามมาว่า “นี่เป็นวิธีจัดการที่ดีที่สุดหรือเปล่า?” ตัวอย่างการรวมตัวกันของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ กว่า 40 แห่งในประเทศจีน แทนที่เขาจะใช้วิธีเลิกจ้าง เขากลับส่งพนักงานไปให้ธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้คนเยอะ ๆ ที่เร่งกำลังผลิตในช่วงนี้ ยืมตัวไปทำงานก่อน โดยหลักๆ ส่งคนไปให้ Hema ของ Alibaba Ele, Meituan, และ JD’s 7Fresh หรืออีกกรณีหนึ่งคือ บริษัทเครื่องสำอางค์ Lin Qingxuan ที่สถานการณ์บังคับให้ต้องปิดสาขากว่า 40% ของธุรกิจทั้งหมด แต่แทนที่เขาจะเลิกจ้างพนักงาน เขากลับเปลี่ยนพนักงานเหล่านั้นให้กลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เครื่องสำอางค์และทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์แอพพลิเคชั่น WeChat แทน ซึ่งปรากฏว่ายอดขายในเมืองอู่ฮั่น เพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
.
.
.

5) เตรียมตัวเพื่อจะกลับมาได้เร็ว
.
จากการศึกษาและติดตามสถานการณ์ของรายงานชิ้นนี้ พบว่าเพียงแค่ 6 สัปดาห์หลังจากเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น ธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ในประเทศจีนเริ่มฟื้นคืนกลับมาได้มากกว่า 73% แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ กำลังเผชิญปัญหาหนักอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในหัวข้อนี้คือ บริษัททัวร์ระดับพรีเมี่ยมยักษ์ใหญ่ แทนที่จะเลิกจ้างพนักงาน สิ่งที่เขาทำคือ ชวนพนักงานทุกคนมาฝึกอบรม ปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการอัพเกรดระบบไอที เพราะเมื่อถึงจุดที่สถานการณ์กลับมาปกติ ธุรกิจของเขาจะได้พร้อมติดปีกแซงชาวบ้านทันที
.
.
.

6) มองหาโอกาสท่ามกลางปัญหา
.
มีธุรกิจหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างมากในประเทศจีนช่วงนี้ คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับซอฟแวร์ และธุรกิจด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ เห็นโอกาสในวิกฤตินี้ ทำการปรับพอร์ตเพิ่มเติมกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับ ซอฟแวร์ และสุขภาพ เข้าไปในกลุ่มสินค้าของตัวเอง หรืออีกกรณีของ Kuaishou บริษัทชั้นนำที่ทำเกี่ยวกับวิดีโอแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ไปจับมือกับโรงเรียน มหาลัย รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ปรับรูปแบบการเรียนการสอนสู่ระบบ Online Cloud Classroom เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนในช่วงนี้ ซึ่งก็ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ขยายมากขึ้นไปอีกด้วย
.

ซึ่งทั้ง 6 ข้อ ที่ A Cup of Culture ได้รวบรวมมานี้ สามารถใช้เป็นไอเดียในการปรับรูปแบบธุรกิจของเราได้ในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมาในองค์กรก็เป็นได้
.
.
A Cup of Culture

Share to
Related Posts:
Search

ดาวน์โหลดตัวอย่างเครื่องมือบางส่วนจาก Values Uncovered ขอบคุณที่ให้ความสนใจในเครื่องมือของเรา

ORG Culture Canvas full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search