อย่างที่ทราบกันว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สัมฤทธ์ผลนั้นต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมายพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินทองไปไม่น้อย โดยเฉพาะองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ต้องใช้ในการระดมสมองของผู้บริหาร เวลาของพนักงานที่ต้องมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาให้คำแนะนำ จึงเกิดคำถามดัง ๆ ตามมาว่า “หากต้องควักกระเป๋าจ่ายในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ องค์กรจะวัด ROI (Return On Investment) ของความสำเร็จยังไงดี??”
.
เมื่อไม่นานมานี้นิตยสาร Forbes ได้ทำการสำรวจไปยังกลุ่มสมาชิกซึ่งเป็นผู้บริหารด้าน HR ขององค์กรขนาดกลางขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา (Forbes Human Resources Council) ถึงแนวทางในการวัดผลตอบแทนเชิงธุรกิจแบบจับต้องได้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละองค์กร ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้
.
- วัดจากผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน (Employee Survey) โดยควรทำให้บ่อยและสม่ำเสมอ เพื่อจะทราบถึงมุมมองที่พนักงานมีต่อองค์กรว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขและผูกพันกับการทำงานหรืออะไรที่ปิดกั้นไม่ให้พวกเขาปลดปล่อยศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ และผู้บริหารควรลงมือจัดการโดยเร็ว เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงกับผลทางธุรกิจ
. - ระบุให้ชัดว่าเราต้องการผลลัพธ์อะไรจากวัฒนธรรมองค์กร เช่น ระบุตัวชี้วัดของค่านิยมแต่ละตัวออกมาให้ชัดเจนว่าเราอยากเห็นอะไรในแต่ละช่วงเวลาที่เราใช้ค่านิยมเหล่านี้ เช่น หากเรามีค่านิยมด้านความใส่ใจกันและกัน (Caring) ก็อาจวัดจากอัตราการลาออกที่ลดลงหรือผลคะแนนความผูกพันของพนักงานที่สูงขึ้น หากเป็นเรื่องการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ก็อาจวัดที่ ผลการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าเป็นต้น
. - วัดจากตัวชี้วัดที่เหตุ (Lead Measure) ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงปราถนา อาจจะเป็นการยากที่เราจะเชื่อมโยงวัฒนธรรมองค์กรไปถึงผลลัพธ์ที่เป็นตัวเลข แต่เราสามารถดูปัจจัยที่วัดได้ง่ายกว่าและเชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์เรื่องตัวเลข เช่น หากเราพบว่าการที่พนักงานขายไปพบลูกค้ารายเดิมทุกสัปดาห์จะมีผลต่อยอดขายแน่ๆอย่างน้อย15% เราก็ไปติดตามและส่งเสริมที่พฤติกรรมนั้นแทน
. - วัดจากการรักษาคนเก่งไว้ได้ (Employee Retention) เพราะสองสิ่งนี้เป็นผลลัพธ์จากการที่องค์กรหนึ่งๆมีวัฒนธรรมที่ดี มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจนและสามารถสื่อสารไปยังพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้พนักงานผูกพันกับองค์กร สนุกไปกับการทำงานและไม่เปลี่ยนงาน ซึ่งจะส่งผลถึงค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะลดลงที่อย่างเห็นได้ชัด
. - วัดความรู้สึกของพนักงานมีต่อองค์กรในเชิงข้อมูล (Employee Sentiment Data Analysis) โดยปัจุบันได้นำเทคโนโลยีด้าน Data Analytics มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาษาที่ถูกใช้ในการสื่อสารผ่านสื่ออิเล็คโทรนิคส์ต่างๆ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงหรือพยากรณ์ผลลัพธ์ในการทำงานของพนักงานแต่ละคนได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ
. - วัดจากการความสามารถในการทำกำไร เนื่องจากมีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมักจะส่งผลต่อกำไรด้วยในที่สุด ด้วยตรรกะที่ว่า หากพนักงานร่วมวิสัยทัศน์ขอองค์กร มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรแล้ว ก็มักจะทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ และเป็นไปอย่างต่อไม่สะดุดเนื่องจากมีอัตราการลาออกที่น้อย
.
และนี่คือแนวทางที่ท่านสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของท่านได้เมื่อคิดถึงผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของวัฒนธรรมองค์กร
..
..
A Cup of Culture