การขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร ที่มีผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการคือทีม HR และมีผู้บริหารที่คอยรับสรุปรายงานผล อาจเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลในยุคหนึ่ง… แต่ในยุคปัจจุบัน ถ้าอยากเห็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นดำเนินไปในลักษณะเป็น Way of work ขององค์กรจริง ๆ หน้าที่ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร คงไม่สามารถเป็นแค่งานของ HR เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป…
ดังนั้น ความหมายของการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรในยุคใหม่ คือ #การทำให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องของทุกคน หรือทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนในความเป็นเจ้าของ มีบทบาทในการขับเคลื่อนในแบบที่ไม่ใช่การแค่ Influence หรือ Empower แบบลอย ๆ แล้วไม่ได้มีใครรับผิดชอบ แต่ต้องเป็นการกำหนด ออกแบบ และสื่อสาร ไปยังพนักงานในบทบาทต่าง ๆ ขององค์กร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน พัฒนา และส่งเสริม วัฒนธรรมองค์กรที่อยากเห็น ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
การสร้างและขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร ในการปฏิบัติจริงอาจขึ้นอยู่กับ ประเภทอุตสาหกรรม, ขนาด, อายุ, โครงสร้าง และบริบทขององค์กร แต่บุคคลสำคัญและบทบาทหลักของคนกลุ่มนี้ที่มีร่วมกัน ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร มี 5 ประการ
========================
1. บอร์ดบริหาร (Board of Directors)
:: บทบาทหลักคือ การช่วยทำให้แนวทางและภาพของวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่อยากเห็นชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคือการทำให้มั่นใจว่าภาพนั้นสอดคล้องไปกับเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร และตอบความต้องการของเหล่าผู้ถือหุ้นด้วย
2. CEO และผู้บริหารระดับสูง (C-Level)
เป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างยิ่ง
:: บทบาทหลักคือ การกำหนดหน้าตาของวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่อยากเห็น ที่ช่วยส่งเสริมทิศทาง เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ขององค์กรได้ พร้อมกับเก็บเกี่ยววัฒนธรรมองค์กรผ่านบทบาทและการกระทำในฐานะผู้นำองค์กร ที่ให้เรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ ผ่านการกำหนดเป้าหมาย การวางกลยุทธ รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างระบบ และกระบวนการทำงานที่สนับสนุนค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรให้เกิดขึ้นได้จริงในระดับขององค์กร
3. ทีมทรัพยากรบุคคล (HR)
ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมองค์กรจะไม่ใช่แค่เรื่องของ HR แต่ HR ยังคงเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อน และเอื้ออำนวย ให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ระดับขององค์กร
:: บทบาทหลักคือ การออกแบบประสบการณ์ของพนักงานตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าองค์กร-ไปจนถึงก้าวขาลาออก ให้สอดคล้องและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่คาดหวัง รวมถึงการนำกลยุทธ์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ไป ดำเนินการ ให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหมดในองค์กร สามารถมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างและขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การจัดหาเทรนนิ่งโปรแกรมให้กับเหล่าผู้นำองค์กร เพื่อให้ผู้นำมีทักษะ มีความสามารถ และมีเครื่องมือที่พร้อมขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างเต็มรูปแบบ หรือ จัดทำ culture guidebook เพื่อใช้ใน กระบวนการประเมินผลการดำเนินงานที่มีสัดส่วนของวัฒนธรรมองค์กรด้วย หรือ เพื่อให้ประกอบการออกแบบระบบการชื่นชมและให้รางวัล เพื่อเสริมแรงพฤติกรรมที่คาดหวังให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
4. ผู้จัดการระดับกลาง (Middle Manager)
กลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทั้งด้านผลการดำเนินงานและวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าใจภาพรวมและทิศทางขององค์กร ในขณะเดียวกันยังใกล้ชิดกับพนักงานระดับปฏิบัติการ ที่หลายองค์กรอาจจะมองข้าม
:: บทบาทหลักคือ การส่งมอบประสบการณ์ของพนักงานที่สอดคล้องและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรได้ ไม่ว่าทีมผู้บริหารหรือ HR จะออกแบบมาดีอย่างไร แต่การจะทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติได้จริง ตัวแปรสำคัญอยู่ที่หัวหน้าทีมหรือผู้จัดการ ทั้งการสร้างบรรยากาศในทีม และระหว่างทีม การสอน การโค้ช การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้รวมไปถึงการนำกลยุทธในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรมาปฏิบัติจริง และช่วยเติมเต็มบทบาทความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรให้กับลูกทีม
5. พนักงานปฏิบัติการ (Employee)
กลุ่มบุคคลที่มีมากที่สุดในองค์กร และเป็นผู้ปฏิบัติงานที่อาจจะใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด และส่งมอบวัฒนธรรมองค์กรไปยังมือลูกค้าเช่นกัน
:: บทบาทหลักคือ การให้ข้อมูลไปยังทีมผู้บริหารเพื่อใช้ประกอบกับการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่อยากเห็น โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้เห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบที่อยากเห็นนั้น สอดคล้อง หรือแตกต่างจากวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากมุมมองการรับรู้ของลูกค้า และความต้องการและความคาดหวังของพนักงานอย่างไร เราควรที่จะให้พนักงานได้ให้ feedback เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอยู่ และมีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย วิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถทำได้และเข้ากับพวกเขา รวมถึง ยึดมั่นในการปฏิบัติงานและหน้าที่ ด้วยค่านิยม และการแสดงออกถึงพฤติกรรมการทำงานร่วมกันในแบบที่ที่สอดคล้องไปกับวัฒนธรรมองค์กร
====================
เพราะวัฒนธรรมองค์กร คือวิถีการทำงาน วิถีปฏิบัติ ที่คนทั้งองค์กรยึดมั่นในคุณค่า หรือ ค่านิยมเดียวกัน และสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมการทำงานร่วมกัน ที่ส่งมอบ Value Proposition ขององค์กรไปยังลูกค้าได้ อย่างเป็นเอกลักษณ์ เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยแรงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องของทุกคน ที่มาช่วยกับขับเคลื่อนให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporate culture
organizational culture
.
.
>>>
.
.
>>>