คุณรู้ไหมว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณ (ในปัจจุบันนี้) เป็นแบบไหน? ผมเชื่อว่าคำถามข้อนี้อาจจะมีทั้งคนที่ตอบได้ทันที และคนที่อาจจะตอบแบบอ้อมแอ้มไม่เต็มปากนัก การเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของคุณเป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อตัวคุณเอง (ไม่ว่าจะในบทบาทหัวหน้าหรือพนักงาน) และสำคัญต่อองค์กร เพราะวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นหรือมีความชัดเจน จะเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งตั้งแต่วิธีการทำงาน การตัดสินใจ การปฏิบัติตน ไปจนถึงแรงจูงใจของพนักงานและความสำเร็จโดยรวมขององค์กร
ชาลส์ แฮนดี (Charles Handy) นักปรัชญาชื่อดังและเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กร ได้แบ่งรูปแบบวัฒนธรรมองค์กรตามวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กรเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม วัฒนธรรมแบบบทบาท วัฒนธรรมแบบมุ่งงาน และวัฒนธรรมแบบมุ่งบุคคล บทความนี้จะลงลึกในแต่ละประเภท สำรวจลักษณะเฉพาะของแต่ละรูปแบบ และวิธีที่มันหล่อหลอมชีวิตการทำงานประจำวันของคุณ ความรู้นี้สามารถช่วยให้คุณปรับรูปแบบการสื่อสาร เผชิญกับความท้าทาย และสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมการทำงานของคุณ
1. วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (Power Culture: The Leader is the Engine)
ลักษณะ: วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจ โดยมีผู้นำเป็นผู้มีอำนาจหลักในการตัดสินใจ วางนโยบาย และแผนงานไปสู่เป้าหมายขององค์กร
จุดแข็ง: เป็นวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้นำเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีต่อสถานการณ์
จุดอ่อน: การพึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียวอาจเป็นความเสี่ยง การขาดการตัดสินใจร่วมกันอาจนำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วมของพนักงาน
ตัวอย่าง: บริษัทสตาร์ทอัพ ธุรกิจครอบครัว
2. วัฒนธรรมแบบมุ่งอิสระเฉพาะตัวบุคคล (Person Culture: The Individual is the Star)
ลักษณะ: เป็นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญและความเป็นอิสระของแต่ละบุคคล ความสามารถของแต่ละบุคคลมีความจำเป็นและมีผลต่อประสิทธิภาพและชื่อเสียงขององค์กรเป็นอย่างมาก เป็นวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นไปที่การดึงดูดและรักษา Talents มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นและเน้นการพัฒนาตนเอง
จุดแข็ง: มีความเป็นอิสระ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และดึงดูด Talents ที่มีทักษะสูงและความเชี่ยวชาญเฉพาะตนที่สูง
จุดอ่อน: การทำงานร่วมกันและการทำงานเป็นทีมอาจเป็นเรื่องท้าทาย อาจขาดความเป็นปึกแผ่น และเป้าหมายของแต่ละบุคคลอาจขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ขององค์กร
ตัวอย่าง: องค์กรที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เอเจนซี่จัดหานักแสดง สตูดิโอออกแบบ
3. วัฒนธรรมแบบบทบาท (Role Culture: Structure and Specialization)
ลักษณะ: เป็นวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นโครงสร้างหรือลำดับขั้น (hierarchy) มีสายการบังคับบัญชา มีบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และกฏระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
จุดแข็ง: วัฒนธรรมแบบบทบาทเหมาะสำหรับองค์กรที่เน้นกระบวนการทำงานชัดเจน มีมาตรฐานและผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่เน้นการปรับเปลี่ยนเยอะ มีระบบระเบียบที่ชัดเจน
จุดอ่อน: คำว่า “นวัตกรรม” อาจเกิดได้ยากกับวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ด้วยโครงสร้างที่ตายตัวและการมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติตามกฎระเบียบ อาจจะส่งผลต่อการคิดค้นอะไรใหม่ๆ หรือการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว เพราะการตัดสินใจอาจช้าลงเนื่องจากกระบวนการทางราชการที่มาก
ตัวอย่าง: หน่วยงานรัฐบาล บริษัทขนาดใหญ่ที่มีระบบชั้นการบังคับบัญชา
4. วัฒนธรรมแบบมุ่งงาน (Task Culture: Teamwork Takes Center Stage)
ลักษณะ: เป็นวัฒนธรรมที่เน้นการทำงานร่วมกันและความเชี่ยวชาญข้ามสายงาน ทีมงานแต่ละคนจะได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาและริเริ่มผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ การตัดสินใจมีลักษณะกระจายอำนาจเกิดขึ้นภายในทีมงานโครงการ
จุดแข็ง: วัฒนธรรมแบบมุ่งงานประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และรับมือได้ดีกับความท้าทายที่ซับซ้อน วัฒนธรรมแบบนี้ช่วยส่งเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมในหมู่สมาชิกทีม
จุดอ่อน: การปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ อาจนำไปสู่การขาดเสถียรภาพในการทำงาน การสื่อสารข้ามทีมอาจเป็นเรื่องท้าทาย และอาจเกิดการแข่งขันระหว่างทีมได้
ตัวอย่าง: องค์กรที่มุ่งเน้นโครงการหรือโปรเจกต์ใหม่ๆ บริษัทโฆษณา
บทสรุป -ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรใดเหนือกว่ากัน หัวใจสำคัญที่เราเน้นย้ำบ่อยๆ คือ “วัฒนธรรมองค์กรที่กำหนดขึ้น ควรสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร” วัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาด อุตสาหกรรม กลยุทธ์ และเป้าหมายขององค์กร
- องค์กรสตาร์ทอัพ: วัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมที่มีผู้นำผู้มีวิสัยทัศน์สูงสุดเป็นคนนำทาง อาจเหมาะกับการมุ่งการเติบโตและมุ่งสู่เป้าหมายอย่างรวดเร็ว
- บริษัทขนาดใหญ่: วัฒนธรรมแบบบทบาทสามารถสร้างความมั่นคง ความสอดคล้อง และการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพการดำเนินโปรเจต์งานขนาดใหญ่มากกว่า
- องค์กรที่มุ่งเน้นโครงการ: วัฒนธรรมแบบมุ่งงาน เน้นความยืดหยุ่น การทำงานร่วมกัน และการบรรลุเป้าหมายเฉพาะของโครงการ
- อุตสาหกรรมในภาคธุรกิจการศึกษาหรือมุ่งความคิดสร้างสรรค์: วัฒนธรรมแบบมุ่งบุคคลสามารถดึงดูด Talents และบุคลากรระดับแนวหน้าได้มากกว่า ขับเคลื่อนนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ
แบบจำลองนี้ Handy’s Model of Organizational Culture สามารถใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงในการทำความเข้าใจว่าวัฒนธรรมส่งผลต่อโครงสร้างและการประสานงานในองค์กรอย่างไร
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporateculture
organizationalculture
.
.