Ed Catmull อดีต President ของ Pixar Studio เชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กรที่สนุกเป็นพื้นฐานสำคัญของประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งก็มีหลักฐานมากมายที่มาสนับสนุนความเชื่อนี้ ที่นอกเหนือไปจากความสำเร็จของ Pixar แล้ว การศึกษาในแวดวงธุรกิจอีกมากมายก็พบว่าทีมที่สนุกมักจะมีการสื่อสารระหว่างกัน และการแก้ปัญหาที่เต็มประสิทธิภาพ รวมไปถึงผลงานที่ดีกว่าในทั้งระยะสั้นและยาวอีกด้วย แต่หลายครั้งเรากลับพบว่าเมื่อเราพยายามที่จะออกแบบวัฒนธรรมองค์กรของเราให้สนุก มันกลับไม่ได้เป็นตามนั้น บางทีได้ผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น วันนี้เราจะดูกันว่าเราจะสามารถทำให้วัฒนธรรมองค์กรเราสนุกขึ้นได้อย่างไร
ความสำเร็จของ Pixar ตั้งแต่ Toy Story, Finding Nemo จนไปถึง Inside Out นั้นต้องยกเครดิตให้กับความคิดสร้างสรรค์ของทีมงาน ทั้งองค์ประกอบภาพที่สวยงาม เรื่องราวที่กินใจคนทุกเพศทุกวัย และโลกที่เอ่อล้นไปด้วยจินตนาการ แต่จากมุมมองของ Ed Catmull เขามักจะยกเครดิตให้กับวัฒนธรรมองค์กรของ Pixar เป็นหลัก หรือถ้าให้ชัดกว่านั้น คือ วัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ “เสียงหัวเราะ และการสนุกร่วมกันในวันดี ๆ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ และทำให้ในวันแย่ ๆ พวกเราต่างมั่นใจในกันและกันมากขึ้น”
วัฒนธรรมองค์กรที่ทีมงานเราได้สร้างสรรค์ผลงานได้เต็มประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็สนุกไปกับมันด้วยนั้นคืออุดมคติของหลาย ๆ องค์กร แต่การที่จะทำให้องค์กรเป็นแบบนั้นได้จริง ๆ นั้นเป็นอะไรที่ฝืนธรรมชาติมาก ๆ แต่สามารถทำให้ถ้าคุณเป็นผู้นำองค์กรที่จริงจังกับเรื่องนี้จริง ๆ
ก่อนที่เราจะเริ่มต้นกันเราต้องเกริ่นก่อนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่สนุก มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร และแน่นอนว่าไม่ได้เหมาะกับผู้นำองค์กรทุกคน เราจึงได้มีหลากหลายแนวทางการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สนุกที่แต่ละท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ในแบบของตัวเองจากหนังสือเรื่อง Humor, Seriously ของ Jennifer Aaker และ Naomi Bagdonas
แสดงความตลกออกมา
อารมณ์ขันเฉพาะหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ CEO หลาย ๆ คนใช้ในการเซ็ตบรรยากาศของความสนุก เพราะความสดนั้นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความสนุกได้อย่างดี และสร้างความไม่คาดคิดให้กับคนฟัง และความไม่คาดคิดนั้นจะถูกแสดงออกมาผ่านเสียงหัวเราะนั่นเอง ดังนั้น ในสถานการณ์การทำงานทั่วไปจะเป็นข้อได้เปรียบนึงของการใช้อารมณ์ขัน เพราะการทำอะไรเล็ก ๆ น้อยที่ใส่อารมณ์ขันลงไปนั้นจะเปลี่ยนบรรยากาศให้เบาขึ้น และเรียกเสียงหัวเราะได้ง่ายกว่าสถานการณ์อื่น ๆ (ถ้าทุกอย่างไม่ตึงเครียดเกินไป)
ตัวอย่างขององค์กรที่ใช้อารมณ์ขันได้ดีคือ Google จากทั้ง Lary Page Sergey Brin และ Eric Schmidt ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมที่จัดทุกวันศุกร์ที่ชื่อว่างาน Thank God It’s Friday ที่เปิดโอกาส 30 นาทีให้พนักงานถามอะไรก็ได้กับผู้บริหาร และสิ่งที่เกิดขึ้นคือการตอบโต้กันระหว่าง Larry Page และ Sergey Brin ที่ทำให้ตั้งคำถามได้ว่านี่ Google หรือตลกคาเฟ่
กิจกรรมเหล่าช่วยให้พนักงานเห็นว่าผู้บริหารของพวกเขาสื่อสารกันอย่างไร และเป็นการส่งข้อความว่าพวกเขามองหาคนแบบไหนมาเป็นผู้นำองค์กร การเล่นสนุกด้วยกันใน Google คือการสื่อสารว่าคนที่จะก้าวหน้าได้ดีใน Google ต้องรักสนุก Eric Schmidt เชื่อว่า “เราทำตัวแบบไหนเรา องค์จะได้คนมาเป็นผู้นำในแบบนั้น ถ้าเราเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ Relax มีอารมณ์ขัน และสนุก พนักงานคนอื่น ๆ ก็จะรู้ว่าความสนุกนั้นเป็นเรื่องที่ดีต่อ Google และกล้าที่จะสนุกไปกับการทำงานด้วยกัน”
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับวิธีนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนุกจะเป็นไปไม่ได้สำหรับท่าน เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ท่านสามารถส่งเสริมความเฮฮาในที่ทำงานได้ เช่นแนวทางถัดไป
เล่นตามน้ำไปกับทีม
ก่อนหน้าที่ Eric Schmidt จะเข้ามาเป็นผู้บริหารที่ Google วันหนึ่งเขาเคยเดินเข้าห้องทำงานแล้วพบกับรถยนต์ Volkswagen ตั้งอยู่ในห้อง นั่นหมายถึงในชั่วข้ามคืน ทีมงานของเขาซื้อรถยนต์ แยกส่วนประกอบ ขนทั้งหมดเข้ามาไว้ในห้องทำงานเขา และประกอบมันกับเข้าด้วยกันใหม่ก่อนที่เขาจะมาถึง
นี่เป็นการหยอกกันเล่นที่ใช้ความพยายามอย่างมาก และ Eric Schmidt เข้าใจเรื่องนี้ดี และรู้ว่าการตอบสนองของเขาต่อเหตุการณ์นี้สำคัญมากต่อวัฒนธรรมองค์กร และตัดสินใจที่จะเดินเข้าไปในรถ… และเริ่มประชุม
Schmidt เขาสามารถที่จะไม่พอใจ และตักเตือนลูกทีมของเขาที่ลุกล้ำพื้นที่ห้องทำงานของเขาโดยพละการได้ และในความเป็นจริงหลาย ๆ คนอาจจะตอบสนองไปอย่างนั้น เพราะการตามน้ำไปกับทีมงานเราในบางครั้งอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้นำที่ต้องยอมปล่อยวางตำแหน่ง แล้วยอมให้คนอื่นขึ้นมานำเรา แต่การที่ Schmidt เลือกที่จะเล่นตามน้ำไปคือการแสดงออกว่าว่าเขาสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่สนุก และทุกคนมีส่วนร่วมมากกว่าการที่ใครคนหนึ่งจะมากำหนดว่าองค์กรสามารถสนุกกับอะไรได้บ้าง ตราบใดที่มันยังไม่ได้สร้างความเสียหาย และนั่นนำเรามาสู่ประเด็นถัดไป
ส่งเสริมความสนุกจากล่างขึ้นบน (Bottom-up)
ที่ Pixar เต็มไปด้วยประเพณีองค์กรที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และความสนุก และประเพณีเหล่านี้คือสิ่งที่เชื่อมโยงคนใน Pixar เข้าด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจคือ Ed Catmull ได้บอกว่ากิจกรรม และประเพณีเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากพนักงานทั้งนั้น พร้อมยังบอกด้วยว่าเขาไม่เชื่อว่าเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะกำหนดว่าเราควรสนุกกันแบบไหน เพราะ “Fun is not a top-down thing”
ในทางตรงกันข้ามวัฒนธรรมองค์กรที่สนุกต้องเกิดขึ้นจากพนักงานในทุก ๆ ระดับ เพียงแต่เป็นหน้าที่ของผู้นำในการมองหามันให้เจอ โดยเฉพาะมองหากลุ่มคนที่จะมาช่วยขยายให้มันใหญ่ขึ้น
หลายครั้งเราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Change Agents คือกลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสนุกในตัวเอง การคอยสังเกตุให้ดีว่าในชีวิตการทำงานปัจจุบันมีใครบ้างที่เป็นคนช่วยสร้างบรรยากาศให้กับทีม และเมื่อเจอแล้วหน้าที่สำคัญของผู้นำองค์กรคือการส่งเสริมคนเหล่านี้ให้เป็นตัวเองได้มากขึ้น ทั้งการชมเชยให้รางวัล หรือประกาศเป็นเรื่องราวให้คนอื่นได้รับรู้
การแสดงออกซึ่งการยอมรับนี้ช่วยให้เหล่า Change Agents ของเรามีความเป็นเจ้าของในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนุกมากขึ้น และทำให้ความสนุกในที่ทำงานมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าหากมาจากตัวผู้นำเอง และก็เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้นำที่ไม่ได้มีสไตล์เป็นคนตลกโดยธรรมชาติก็สามารถทำได้ผ่านการส่งเสริมพนักงานที่ทำได้ดีกว่า
นี่เป็น 3 แนวทางหลัก ๆ ของการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความสนุก และเป็นธรรมชาติ เพราะความสนุก และเสียงหัวเราะนั้นคือสิ่งสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร และประสิทธิภาพในการทำงาน หลาย ๆ องค์กรอยากเป็นที่ที่เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในขณะที่ก็สนุกไปด้วย แต่การที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงนั้นต้องอาศัยการส่งเสริมความสนุกกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะจากผู้นำ และหากใครที่กำลังมองหาวิธีการใส่ความสนุกให้กับวัฒนธรรมองค์กรเรานั้นสามารถปรับใช้ทั้ง 3 แนวทางในแบบที่เป็นตัวเองที่สนุก ท่านใดที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนตลกโดยธรรมชาติอาจจะถนัดการเล่นสนุกให้เป็นแบบอย่างว่าทำได้ หรือถ้าไม่ใช่อาจจะส่งเสริมมันโดยการเล่นตามน้ำเมื่อทีมงานเราเล่นด้วย หรืออาจจะเป็นการมองหา และส่งเสริมให้ Change Agent มาช่วยสร้างบรรยากาศของความสนุก และในอุดมคติเราก็สามารถให้ทั้ง 3 แนวทางนี้ไปด้วยกันได้เช่นกัน และไม่ว่าเลือกปรับไปใช้แบบไหน สิ่งสำคัญก็ต้องไม่ลืมว่า “ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วัฒนธรรมองค์กรก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี” อย่าลืมมาตั้งใจสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่อยากเห็นกันล่ะ
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
References:
หนังสือ Humor, Seriously โดย Jennifer Aaker และ Naomi Bagdonas
Google TGIF: 1999
.
.
>>>>
