การฝึกอบรมเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะระบุได้ว่าผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ดีเกิดจากวิทยากร ผู้เข้าอบรม หรือสิ่งใดแบบ 100% เพราะนี่คือกระบวนการที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งปัจจัยภายในตัวผู้เข้าอบรม เช่น แรงจูงใจ ความสนใจ ความพร้อม และปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ วิธีการสอน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรม
การออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมการฝึกอบรมให้เหมาะสมจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเอื้อให้สมองสามารถสร้างการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลใหม่ที่เพิ่งได้รับกับความรู้และประสบการณ์เดิมได้อย่างแนบแน่น
=============
การสร้างการเชื่อมโยงในสมองเป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้ทุกรูปแบบ เนื่องจากสมองของมนุษย์ไม่ได้จดจำข้อมูลในลักษณะการบันทึกหรือจัดเก็บแบบใส่ลงในกล่อง แต่จะเชื่อมโยงข้อมูลใหม่กับความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วผ่านการสร้างเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากสามารถสร้างการเชื่อมโยงได้อย่างเหมาะสมก็จะส่งผลให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จดจำได้นาน และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นในสถานการณ์ต่างๆ ได้จริง
ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญานิยม (Cognitive Learning Theory) ของ Jean Piage และ David Ausubel บอกไว้ว่า “การสร้างการเชื่อมโยงระหว่างความรู้ใหม่กับโครงสร้างความรู้เดิมจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความรู้เดิมหรือสร้างโครงสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ”
==============
จากทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญานิยม เราสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมการฝึกอบรมที่เอื้อต่อการสร้างการเชื่อมโยงดังกล่าว โดยพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ทั้ง 5 ประการ ดังนี้
เนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้:
ควรออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมการฝึกอบรมให้มีความเชื่อมโยงกับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เข้าอบรม รวมถึงการนำเสนอในบริบทหรือสถานการณ์ที่คุ้นเคย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับสิ่งที่ตนเองมีอยู่แล้วได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การใช้ตัวอย่าง กรณีศึกษา หรือสื่อประกอบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจริงก็จะช่วยสร้างการเชื่อมโยงได้ดียิ่งขึ้น
บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ:
สภาพแวดล้อมทางกายภาพมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรม ห้องอบรมที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย สงบ และเอื้อต่อการมีสมาธิจดจ่อ จะช่วยให้สมองสามารถสร้างการเชื่อมโยงได้ดีกว่าสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย ทั้งนี้ อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง และการจัดพื้นที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมาก
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรม:
การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรมจะช่วยให้วิทยากรสามารถเข้าใจความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิมของผู้เข้าอบรมได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถออกแบบการสอนได้ตรงจุดและช่วยผู้เรียนสร้างการเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถใช้เทคนิคการตั้งคำถามในตอนเริ่มต้นแต่ละหัวข้อ การให้ตัวอย่าง การเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้เข้าอบรมคุ้นเคย เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมมองเห็นการเชื่อมโยงได้ชัดเจนขึ้น
การสร้างบรรยากาศที่สร้างความรู้สึกที่ดี:
บรรยากาศในห้องฝึกอบรมที่ปลอดภัย ไว้วางใจ และกระตุ้นให้ผู้เข้าอบรมกล้าแสดงออก มีส่วนร่วม และซักถามเมื่อมีข้อสงสัย จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ได้ดียิ่งขึ้น วิทยากรควรสร้างบรรยากาศแบบเปิดกว้างให้ผู้ข้าอบรมรู้สึกสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงประสบการณ์ส่วนตัว และเชื่อมโยงกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ รวมถึงการยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิดด้วย
การใช้กลวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย:
การสอนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การบรรยาย การอภิปราย การระดมสมอง การทำกิจกรรมกลุ่ม จะช่วยกระตุ้นการรับรู้ในหลายช่องทางของสมอง ทำให้ข้อมูลเดียวกันสามารถสร้างการเชื่อมโยงกับความรู้เดิมในหลายมิติ เทคนิคการสอนที่น่าสนใจและมีชีวิตชีวา จะดึงดูดความสนใจของผู้เรียนและช่วยให้จดจำและเชื่อมโยงได้ดียิ่งขึ้น
===============
สุดท้ายขอแถมทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และสร้างโครงสร้างความรู้ใหม่ ดังนี้
ทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Law of Effect) ระบุว่า พฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงในทางบวก มีแนวโน้มที่จะถูกเรียนรู้และกระทำซ้ำ ดังนั้น การให้รางวัลหรือคำชมเชยเมื่อผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้อย่างเหมาะสม จะเป็นการเสริมแรงให้พฤติกรรมการสร้างการเชื่อมโยงนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น
ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาของเพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Theory) อธิบายว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมผ่านกระบวนการดูดซึมข้อมูลใหม่เข้ากับโครงสร้างความรู้เดิม (Assimilation) และการปรับโครงสร้างความรู้เดิม (Accommodation) เมื่อมีประสบการณ์ใหม่ จึงควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสังเกตสิ่งแปลกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกไม่เคยชินและผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างความรู้ใหม่
ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ (Constructivism) โดยไวก็อตสกี้และบรุนเนอร์ ระบุว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยประสบการณ์และการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จึงควรจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ สำรวจค้นพบด้วยตนเอง เพื่อสร้างการเรียนรู้และเชื่อมโยงสู่ความรู้ใหม่
=============
massivemomentum
workplacemastery
acupofculture
.
.