ในช่วงปีที่ผ่านมาต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นปีของการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมในเรื่องรูปแบบการทำงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในด้านความคาดหวังต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กร หรือที่เราพูดกันติดปากกันว่า “Productivity” คำนี้ก่อให้เกิดให้วัฒนธรรมองค์กรที่ชื่อว่า “Productivity Culture” ขึ้นอย่างเงียบๆ (อาจจะด้วยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม)
“Productivity Culture” หรือวัฒนธรรมที่เชื่อว่า ‘ยิ่งทำงานเยอะๆ ยิ่งเป็นเรื่องดี’ และยิ่งหากงานออกมาเพอร์เฟ็คด้วยยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ และการทำงานเยอะๆ คือสิ่งที่แสดงว่าคุณคือ “Productive employee” วัฒนธรรมแบบนี้คอยผลักให้คนจำเป็นต้องมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เก่งมากขึ้น ทำให้ได้มากขึ้น ต้องมากขึ้นไปอีก เร็วเพิ่มขึ้นได้อีก
ต้องบอกว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความสุขกับการทำงานให้ถึงขีดสุดของตนเองถึงขนาดที่ต้องคอยโพสต์ “ความงานยุ่งของตน” ลงสื่อโซเชียล เพื่อให้เพื่อนร่วมงานเห็นและแสดงให้โลกรู้ จนความงานยุ่ง (Busyness) กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะและเป็นสิ่งที่ต้องอวด // ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะมากกว่า) รู้สึกว่าวัฒนธรรมแบบนี้คือความทุกข์ของพวกเขา และรู้สึกว่าสิ่งนี้คือ “Toxic” ของความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานไปเลย (Work-life balance) จนกลายเป็น Toxic Productivity Culture
คำถามที่น่าสนใจคือ “Productivity Culture” ส่งผลดีหรือผลเสียต่อองค์กรมากกว่ากัน?
เมื่อลองรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย และเอกสารทั้งหลายแล้ว คำตอบดูจะไปในทิศทางเดียวกันคือ “ส่งผลเสียมากกว่า” โดยเฉพาะผลเสียในมิติของชีวิตมนุษย์… คุณแรนดี ไซมอน (Randy Simon) นักจิตวิทยาคลินิกจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ถึงขนาดกล่าวว่า “คนเราไม่ได้ถูกสร้างมา เพื่อให้เกิดผลผลิตในทุก ๆ นาทีของการใช้ชีวิต” หรือจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่พบว่า คนที่ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ได้ทำให้มีผลงานมากไปกว่าคนที่ทำงานเพียง 56 ชั่วโมงเลย ยิ่งกว่านั้นการทำงานหนักเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าด้วย เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ร่วมถึงความเครียดด้วย
ทีนี้ในแง่ขององค์กรก็สามารถสรุป 3 ผลลัพธ์ทางลบจาก Toxic Productivity Culture ได้ ดังนี้
1) คุณภาพงานลดลง (Decreased Work Quality)
Toxic Productivity Culture อาจทำให้พนักงานต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น 2-3 ชั่วโมง/วัน เพื่อเคลียร์งานให้เสร็จทำให้อาจลากยาวไปจนถึงกลางคืนเบียดเวลาพักผ่อนนอนหลับของตนเอง หรือบางคนมุ่งแต่เพื่อให้งานเสร็จ จนอาจละเลยคุณภาพของงานได้
คำแนะนำในการเพิ่มคุณภาพของงาน คือ
– กำหนดขีดจำกัดของการทำงานให้ชัดเจน
– กำหนดลำดับความสำคัญของงาน
– กำหนดเป้าหมายแบบ SMART (เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ บรรลุผลได้ เกี่ยวข้อง และอิงตามเวลา)
2) ความผูกพันของพนักงานลดลง (Decreased Employee Engagement)
ความผูกพันของพนักงานเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความสำเร็จขององค์กร “ความผูกพัน” จะเกิดขึ้นเมื่อพนักงานรู้สึกได้รับความเคารพ ความมั่นคง(ทั้งร่างกาย-จิตใจ) ความได้รับการสนับสนุน และความรู้สึกมีคุณค่าเมื่อได้เป็นส่วนหนึ่ง
ข้อมูลจาก Harvard Business Review รายงานว่าองค์กรที่มีระดับความผูกพันของพนักงานต่ำ ส่งผลต่ออัตราการผลิตลดลง 18% ความสามารถในการทำกำไรลดลง 16% และการเติบโตของงานต่ำกว่าองค์กรที่มีความผูกพัน 37%
คำแนะนำในการเพิ่มความผูกพันของพนักงาน คือ
– การจัดทำโปรแกรมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
– การให้อำนาจแก่พนักงานด้วยเครื่องมือที่จำเป็นในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง
– การจัดกิจกรรมสร้างทีมเพื่อเชื่อมโยงระหว่างองค์กรกับพนักงาน
– การประชุมประจำสัปดาห์กับพนักงานเพื่อทำความเข้าใจเป้าหมามร่วมกัน
3) ขวัญกำลังใจของพนักงานลดลง (Lower Employee Morale)
Toxic Productivity จะโฟกัสแค่เพียงผลลัพธ์และผลผลิตที่จะเกิดขึ้นแต่เพียงเท่านั้น โดยมักไม่คำนึงถึงการทำงานหนักและความทุ่มเทของพนักงาน สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การลดขวัญกำลังใจของพนักงานในที่ทำงาน
และเมื่อใดที่ขวัญกำลังใจของพนักงานลดตกต่ำ มันก็แสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเริ่มลดลง พนักงานเริ่มปล่อยเกียร์ว่างมากขึ้น หรืออาจสะท้อนผ่านยอดการขาดลามาสายที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขาดแรงจูงใจในการทำงาน (ซึ่งข้อนี้ร้ายแรงมาก)
คำแนะนำในการเพิ่มขวัญและกำลังใจของพนักงาน คือ
– การแสดงให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เช่น การมีสวัสดิการซื้อครอสออกกำลังกายตามความสนใจ
– การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายบ้างอย่างขององค์กร
– การกำหนดวัฒนธรรม Work-life balance ที่เน้นความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน
That’s a Wrap!
ข้อสรุปของเรื่องราววันนี้คือ แน่นอนว่าทุกองค์กรต้องการ Productivity จากพนักงานของตน และปฏิเสธไม่ได้ว่า Productivity อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกองค์กร ที่นี้… สิ่งที่เป็นความจริงของทุกชีวิตคือ “อะไรที่มันมากเกินไป… ย่อมนำพาไปสู่ผลลัพธ์ทางลบได้” ตัวอย่างเช่น กินของมันของทอดมากเกินไปอาจนำพาไปสู่โรคอ้วน เช่นเดียวกัน Productivity ที่มากเกินไป ย่อมนำพาไปสู่คุณภาพของงานที่ลดลง ความผูกพันที่ลดลง และขวัญกำลังของพนักงานที่ลดลง นี่ยังไม่รวมไปถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของเราด้วย ฉะนั้น หากองค์กรของเรากำลังอยู่บนเส้นทางของ Toxic Productivity Culture อยู่… อาจจะถึงเวลาแล้วละ ที่เราต้องพิจารณาคำว่า “บาลานซ์”
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.