หากมีใครสักคนเดินเข้ามาหาคุณแล้วเผยความลับกับคุณว่า… “มีอุปนิสัยอย่างหนึ่งที่ถ้าหากคุณฝึกจนเป็นนิสัยแล้วจะช่วยการันตีความก้าวหน้าและสำเร็จในหน้าที่การงาน” คุณพร้อมจะทำตามหรือไม่?
ใครบ้างจะอยากปฏิเสธ
งานวิจัยชิ้นล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่ามีหนึ่งในคุณลักษณะจาก The Big Five Personality Traits ที่ไม่ว่าคุณจะมีพื้นฐานนิสัยหรือบุคลิกภาพอย่างไร คุณก็ควรมีตัวนี้ประกอบด้วย แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคุณลักษณะทั้งห้าที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกนี้กันก่อน
The Big Five หรือชื่อเต็มคือ The Big Five Scientific Model of Personality Traits คือ คำคุณลักษณะห้าคำ ที่ใช้อธิบายคน ๆ หนึ่งในภาพใหญ่ว่าเป็นคนอย่างไร เพื่อช่วยใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกงานที่ใช่ ให้บริษัทหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้วางคนให้ถูกกับงาน หรือ put the right man to the right job นั่นเอง คำทั้งห้าประกอบไปด้วย
- Extraversion หรือความสนใจต่อสิ่งภายนอก
- Agreeableness หรือความยินยอมเห็นใจ
- Conscientiousness หรือความละเอียดพิถีพิถัน
- Openness หรือความเปิดรับประสบการณ์และสิ่งใหม่ ๆ
- Neuroticism หรือความไม่เสถียรทางอารมณ์
ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทกำลังมองหาพนักงานใหม่ในตำแหน่งเซลล์ที่ต้องพบปะพูดคุยกับลูกค้า ก็ย่อมต้องการมองหาคนที่มีบุคลิกแบบ extraversion หรือ openness หรือทั้งสองอย่าง เป็นต้น
::::::::::::::
ผลงานวิจัยที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ชี้ว่า agreeableness หรือความยินยอมเห็นอกเห็นใจ เป็นบุคลิกภาพที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการทำงาน ทั้งยังนำพาใครก็ตามที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้ไปสู่ความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว
การเป็นคนที่มักจะยินยอมหรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องยอมคนอยู่ฝ่ายเดียว หากแต่สะท้อนถึงการที่คุณเป็นคนที่เข้ากับผู้อื่นง่าย ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีอยู่เสมอ ซึ่งในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้แหละ ที่ก็ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณเป็นคนเข้าหาง่ายเช่นเดียวกัน คนที่มีบุคลิกภาพแบบ agreeableness นี้ ยังมักเป็นคนมองโลกในเชิงบวกไว้ก่อนที่จะตั้งแง่และวิพากษ์วิจารณ์
งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ขยายความคำว่า agreeableness ออกมาเป็น 8 ธีมหลัก (The eight general themes) เพื่อให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความยินยอมเห็นอกเห็นใจส่งผลดีต่อตัวบุคคล ตลอดจนองค์กรได้อย่างไร
- Self-transcendence – มีความสามารถในการชี้แนะแนวทางให้กับตนเองและผู้อื่นไปสู่การเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด
- Contentment – เป็นคนมีความสำราญใจ พอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ (accept life as it is) ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
- Relational investment – มีแรงบันดาลใจที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างอย่างต่อเนื่อง
- Teamwork – ให้ความร่วมมืออย่างเข้าใจและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับผู้อื่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย
- Work investment – ลงแรงทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวอยู่เสมอ
- Lower results emphasis – มักไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือน้ำหนักกับการตั้งเป้าหมายสักเท่าไหร่ ทั้งยังไม่ชอบเมื่อต้องประเมินผู้อื่น
- Social norm orientation – ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเคารพ ยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบของสังคมโดยไม่คิดฝ่าฝืน
- Social integration – ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือสถาบันที่เข้าไปอยู่ด้วยได้อย่างกลมกลืน
และนี่คือ 8 ธีมเสริมที่ขยายความคำว่า agreeableness ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากทุกท่านยังจำกันได้ ในบทความ 10 ปัจจัยกำหนดคุณภาพวัฒนธรรมองค์กรในมุมพนักงาน สิ่งที่ตัวเราเองและพนักงานให้ความสำคัญสูงสุด คือ การได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเคารพ (employees feel respected) ซึ่งการจะได้รับการปฏิบัติแบบนี้ หรือแม้กระทั่งเมื่อเราต้องการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเคารพ ทุกท่านต้องเข้าใจก่อนว่าฉากหน้างานเป็นเพียงด้านเดียวของชีวิต ซึ่งทุก ๆ คนแบกรับภาระอื่น ๆ มาที่ทำงานด้วย มากน้อยต่างกัน ทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือลูกทีม ล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า hidden emotional หรืออารมณ์ที่ซ่อนอยู่
การเป็นคนแบบ agreeableness จึงหมายถึงการไม่ตัดสินใครในทันที แต่กระหายที่จะทำความเข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นสถานการณ์ตรงหน้า และเมื่อพลิกวิธีคิดด้วยแรงผลักเบา ๆ นี้แล้ว การตอบสนองด้วยคำพูดก็ดี การกระทำก็ดี ต่อคนรอบข้างจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และวิธีการตอบสนองแบบยินยอมเห็นใจนี้เอง ที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรแบบ collaboration อย่างเอาใจใส่ในที่สุด
::::::::::::::::::::
สุดท้ายนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกท่านจะต้องละทิ้งความเป็นตัวของตัวเองเพื่อมาฝึกเป็นคน agreeableness อย่างเดียว ในทางกลับกัน สังคมหรือองค์กรจำเป็นต้องประกอบไปด้วยคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางความคิด ทัศนคติ และลักษณะนิสัยอย่างสมดุล จึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ เพียงแต่ว่าหากทุก ๆ คนล้วนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือลองมองสิ่งต่าง ๆ ในมุมของผู้อื่นดูว่าหากเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จะตอบสนองเหมือนหรือต่างไปอย่างไร สังคมของเราก็คงจะน่าอยู่ขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
.
.