ในวันที่สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเกิดการปรับเปลี่ยนผันผวนอย่างรวดเร็ว เราพบว่าความรู้ที่มีวันนี้อาจสำคัญน้อยกว่าความสามารถในการถามคำถามเพื่อให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยรู้ ไม่น่าแปลกใจที่หลากหลายองค์กรยักษ์ใหญ่ เช่น Google ได้กำหนดให้การเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการจัดการคนเก่ง สอดคล้องกับการรายงานของ Bersin ที่ชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจก็คือความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กร
มีการให้ความหมายที่หลากหลายสำหรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร ตัวอย่างเช่น Corporate Executive Board Co. (CEB) ให้ความหมายไว้ค่อนข้างครอบคลุมชัดเจนว่า คือสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนความคิดที่เปิดกว้าง การแสวงหาความรู้อย่างอิสระ และที่สำคัญคือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่มุ่งสู่ภารกิจและเป้าหมายขององค์กร
จากข้อมูลของ Deloitte องค์กรที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำในตลาดมากกว่า 46% พร้อมตอบสนองความต้องการในอนาคตมากขึ้น 58% นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น 26% และมีประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้น 37% นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า และน่าจะเป็นภาพฝันของหลายองค์กรเลยทีเดียว แล้วถ้าเราอยากจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กรของเราบ้าง จะเริ่มอย่างไรกันดี?
A Cup of Culture ได้รวบรวม 6 แนวทางที่จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร ดังนี้
1. มีผู้นำที่เป็นแบบอย่าง
เราได้พูดถึงบทบาทสำคัญของผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร นั่นก็คือการ Say (การพูด) – Act (การปฏิบัติ) – Operate (การบริหาร) ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://rb.gy/0yvyl5
ผู้นำจึงมีอิทธิพลที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยการเป็นแบบอย่างในหลากหลายสถานการณ์ เช่น การแชร์การเรียนรู้ที่สำคัญที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ ใน Townhall หรือที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นจากความสำเร็จ หรือจากความผิดพลาด การถามพนักงานอยู่เสมอว่าเราได้เรียนรู้อะไรในเหตุการณ์นั้น ๆ หรือแม้แต่การให้พนักงานรับรู้ว่าผู้นำรับฟัง เปิดรับข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงพัฒนา รวมถึงพร้อมที่จะเรียนรู้จากความเชี่ยวชาญที่แตกต่างหลากหลายของพนักงาน ให้พนักงานได้เห็นแบบอย่างว่าผู้นำก็ไม่ได้เก่งไปซะทุกเรื่อง และยังมีที่ว่างที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมได้อย่างไม่หยุดนิ่ง
2. ส่งเสริมการ Feedback
โมเดลการเรียนรู้แบบ 70:20:10 ชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่จะส่งผลถึง Performance ไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้จากการฝึกอบรมเท่านั้น แต่ประกอบไปด้วยการเรียนรู้จากกระบวนการ ความสำเร็จ ความผิดพลาด จากการทำงานจริง รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ร่วมงาน หัวหน้างาน หรือผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ การ Feedback จึงเป็นอีกกลไกที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อย่างตรงจุด การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แข็งแกร่งจะเกิดขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ทุกคนในองค์กรสามารถให้และรับ Feedback กันได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งในเชิงบวก และเชิงพัฒนา โดยการ Feedback ที่ดีจะต้อง เกิดขึ้นทันทีกับเหตุการณ์นั้น ๆ เฉพาะเจาะจง ปราศจากอคติ แม่นยำ และที่สำคัญคือการมาจากความปรารถนาดีเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน
ผู้อ่านสามารถศึกษาตัวอย่างวิธีการ Feedback จากหลากหลายองค์กรได้ที่ https://rb.gy/e5tr4o
3. สร้างช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย
นอกจากการกำหนดการฝึกอบรมสำหรับพนักงานแล้ว วิธีที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ดีก็คือการสนับสนุนช่องทางและ Platform การเรียนรู้ที่หลากหลาย ใช้งานง่าย เพื่อพนักงานสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจได้ด้วยตนเอง และเข้าถึงได้สะดวกแบบที่ไหน เมื่อไรก็ได้ รวมถึงการจัดสรรโอกาสในการแบ่งปันความรู้ระหว่างพนักงานทุกระดับ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
4. ให้รางวัลสำหรับการเรียนรู้
การให้รางวัลที่ดึงดูดใจ สามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รางวัลสำหรับความสำเร็จในการเรียนรู้ รางวัลสำหรับการแบ่งปันความรู้ หรือการสร้าง impact จากการเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยอาจเริ่มจากรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการเรียนจาก online platform จำนวนมากมี gimmick ที่สนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการมอบเหรียญตราและรางวัลเสมือนจริงอื่น ๆ หรือการเรียนแบบ offline เช่น การรับรู้ถึงความสำเร็จของผู้เรียนในที่สาธารณะ หรือการให้สิ่งจูงใจ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยรางวัลไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่เน้นการสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้อ่านสามารถดูตัวอย่างไอเดียการให้รางวัลพนักงานได้ที่ https://rb.gy/e5szcq
5. สรรหาผู้ที่รักการเรียนรู้เข้ามาร่วมงาน
ระบบการสนับสนุนการเรียนรู้ที่ดีจะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อตัวพนักงานเองมีความสนใจ และใฝ่หาการเรียนรู้อยู่เสมอ นอกจากการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับพนักงานในองค์กรแล้ว การสรรหา คัดเลือกคนที่กระตือรือร้นและเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้ามาร่วมงาน ก็จะทำให้การสร้างวัฒนธรรมการเรียนเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นไปอีก
ผู้ที่รักการเรียนรู้มักหาโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการทำงาน คำถามในการคัดกรองผู้สมัครที่สามารถสะท้อนความสนใจในการเรียนรู้ เช่น “อะไรคือทักษะใหม่ ๆ ที่ได้จากการเรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา” หรือ “อะไรคือสิ่งที่ต้องการจะเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะทำงานนี้ให้ได้ดีที่สุด?” เนื่องจากลักษณะของงานในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบไม่ใช่คนที่มีทักษะทั้งหมดที่จำเป็นในการทำงานในวันนี้ แต่เป็นคนที่มีทักษะหลากหลายรวมถึงความเต็มใจและความสามารถในการเรียนรู้สิ่งอื่นที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคตด้วย
ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับการสัมภาษณ์งานเพื่อให้ได้คนที่ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรได้ที่ https://rb.gy/pvvoso หรือ https://rb.gy/dwwuvk
6. ให้การเรียนรู้เป็นค่านิยมหลัก
และถ้าหากการเรียนรู้ เป็นเสมือนตัวตน เป็นความเชื่อ และเป็นกลยุทธ์ที่จะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่คาดหวัง ลองกลับมาทบทวนกันอีกนิดว่าการเรียนรู้ ได้ถูกระบุไว้เป็นหนึ่งในค่านิยมหลัก หรือเป็นพฤติกรรมที่ระบุชัดเจนอยู่ในค่านิยมหลักขององค์กรหรือยัง ค่านิยมหลักจะเป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจและเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทั้งองค์กรยอมรับ และตกลงที่จะยึดถือปฏิบัติร่วมกันอย่างตั้งใจ
ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กร ไม่ใช่เพียงแค่การจัดระบบการเรียนรู้จาก HR หรือ Learning and Development เท่านั้น แต่การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้นั้นประกอบด้วยความร่วมมือจากทุก ๆ ส่วนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการระบุค่านิยมที่ชัดเจน การเป็นแบบอย่างจากผู้นำ รวมถึงการปรับใช้การเรียนรู้ตลอด Employee Journey เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ต่อเนื่องและเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อเป้าหมายขององค์กรได้
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
.
.
>>>>>
ที่มา
https://elearningindustry.com/ways-creating-learning-culture
https://www.entrepreneur.com/article/345204
https://www.entrepreneur.com/article/330730
#cultivate #learninganddevelopment #leadership
.
.
>>>>