คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองอยู่หรือไม่?
ทำไมพ่อแม่เราเก่งจัง ย้อนกลับไปตอนอายุ 30 ก็สร้างครอบครัว มีบ้าน มีรถ แถมพอเราเกิดมา ก็ดูแลเราได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ตัดภาพมาที่เราในช่วงวัยเดียวกัน กระทั่งสิ่งที่ชอบยังหาไม่พบเลย บริษัทที่ทำอยู่ด้วยก็ไม่แน่ใจว่าจะยังไงต่อ หรือจริง ๆ แล้วเราจะไม่สามารถไปได้ไกลกว่าจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน?
หากสิ่งที่กล่าวมานี้สะท้อนเสียงที่อยู่ในหัวคุณได้ไม่มากก็น้อย ไม่ต้องกังวลให้มากจนเกินไป เพราะคุณไม่ได้กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง อันที่จริง คนส่วนมากในสังคมทุกมุมโลก ล้วนเผชิญสิ่งนี้ที่เรียกว่า mid-career crisis กันทั้งนั้น กล่าวคือ ภาวะที่โจทย์ของชีวิตได้เดินทางเข้าสู่หนึ่งในช่วงที่ยากที่สุด ไหนจะต้องค้นหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไหนจะต้องพยายามเติมความสุขให้ชีวิตตนเองไม่ให้จิตใจแตกสลายไปก่อน พร้อม ๆ กับภาระทางการเงินที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งการเริ่มผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ตลอดจนการก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักเพื่อซัพพอร์ททางบ้านเมื่อพ่อแม่ย่างเข้าสู่วัยเกษียณ
:::::::::::::::
ความรู้สึกกระสับกระส่าย ที่ไม่ได้เข้ามาเดี๋ยวเดียวแล้วก็ผ่านไปเหมือนสายลม แต่อยู่กับเรานานกว่าที่คิดนี้ คุณ Whitney Johnson ผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง Build an A-Team มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและปกติที่สุดที่เราทุกคนล้วนต้องเจอมันสักครั้งในชีวิต ดังนั้น การรับมือกับมันอย่างไรต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้คุณก้าวผ่านช่วงเวลานี้ได้เร็วขึ้น และนี่คือ 6 วิธีที่คุณสามารถเริ่มทำได้ทันที
❇️ 1) วิเคราะห์ต้นตอความรู้สึกเพื่อหารากของปัญหา
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าชีวิตกำลังเกิดวิกฤติ คุณจะตั้งคำถามกับทุก ๆ เรื่อง แต่เพื่อที่จะเกาให้ถูกที่คันคุณต้องจำแนกแจกแจงปัญหาออกมา ว่าเป็นเรื่องของอาชีพและสิ่งที่คุณอยากทำ หรือเป็นเรื่องขององค์กรที่คุณอยู่ คำตอบที่ต่างกัน ย่อมต้องการยารักษาที่ต่างกัน แน่นอนว่าการเปลี่ยนสายงานเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนแล้วย่อมไม่ง่าย เหตุเพราะมีปัจจัยมากมายที่ทำให้คุณไม่มีอิสระเหมือนเคย หากคุณรู้สึกว่าภาระทางการเงินก็ดี ทำเลที่ตั้งโรงเรียนของลูกก็ดี ที่จำกัดทางเลือกในการขยับขยายของคุณเอาไว้ ลองพลิกวิธีคิดเพียงเล็กน้อยเพื่อมองมุมกลับดูว่า ภาระผูกพันเหล่านี้ต่างหาก ที่ทำให้คุณสามารถออกแบบอนาคตของคุณได้แบบไม่ต้องคิดฟุ้ง หากลองเทียบกับตอนคุณเรียนจบใหม่ ๆ มันยากมากที่คุณจะออกแบบเส้นทางเดินของชีวิตได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนี้คุณมีโจทย์ของชีวิตเป็นตัวช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจเลือกมูฟถัดไปได้อย่างแม่นยำขึ้น
❇️ 2) เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงกับสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว
คุณอาจลองพิจารณาดูว่ามีสิ่งเล็ก ๆ ทำได้ง่าย ๆ อะไรบ้างที่สามารถช่วยสร้างโมเมนตั้มเชิงบวกที่จะนำพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ หากเป็นบริบทของชีวิตส่วนตัว อาจเป็นเรื่องของการลุกขึ้นมาจัดห้องนอน หรือโต๊ะทำงาน กระทั่งการลองย้ายออกมาเช่าอพาร์ทเม้นต์อยู่เองและถูกรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ หากเป็นบริบทในที่ทำงาน คุณอาจลองขอเจ้านายเปลี่ยนสายงาน หรือเสนอตัวไปรับผิดชอบโปรเจคใหม่ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับชีวิต
❇️ 3) เรียนรู้อยู่เสมอ
หนึ่งในอาการที่ก็พบได้ใน mid-career crisis คือความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ทำ ขอให้มองว่าหนึ่งชีวิตที่เกิดมานี้ คือ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับบางคนที่นิยามของ crisis อาจจะต่างไปจากคนส่วนมากสักหน่อย ตรงที่เก่งในสิ่งที่ทำมาก ๆ แล้วจนกลายเป็นความน่าเบื่อ ตำแหน่งงานขึ้นแล้วขึ้นอีกจนหมดความท้าทาย ก็อาจลองพิจารณาการเติบโตแบบขยายออกด้านข้าง (lateral move) ดูบ้าง คือ แสวงหาโอกาสเรียนรู้ศาสตร์แขนงใหม่ไปเลย เพราะบางครั้ง การปีนบันไดก็ไม่ใช่วิธีเดียวในการเติบโตไปข้างหน้า
❇️ 4) แสวงหาคุณค่าในสิ่งที่ทำ
หลาย ๆ ครั้งคุณตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราทำสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ไปเพื่ออะไร? อันที่จริงความหมายของชีวิตก็เปรียบเสมือนความรัก คือ ไม่มีใครจะใส่พานทองมาถวายให้คุณตรงหน้า แต่เป็นตัวคุณเองที่ต้องใฝ่มองหามันอยู่ตลอดเวลา และออกไปคว้าเอาไว้ด้วยตัวเอง ในบริบทของหน้าที่การงาน คุณอาจเริ่มต้นโดยการพูดคุยกับกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณทำ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน และเมื่อคุณเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่คุณทำสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไร ก็ไม่ยากแล้วที่คุณจะสังเกตเห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณทำ
❇️ 5) เปลี่ยนงาน
หากทุกข้อที่กล่าวมายังไม่ใช่คำตอบที่คุณกำลังมองหา นี่ก็เป็นสัญญาณแล้วว่าคุณกำลังต้องการ การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณต้อง “disrupt yourself” เมื่อนั้นคุณต้องไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ข้างในเรียกร้อง แต่ก็อย่าลืมว่าในช่วง mid-career crisis นี้ คุณต้องคิดอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ เพราะมันไม่ได้จบแค่ที่คุณได้ทำสิ่งที่อยากทำ แต่สิ่งนั้นตอบโจทย์ชีวิตทุกมิติหรือไม่ ย้อนกลับไปที่ข้อหนึ่ง นี่แหละคือประโยชน์ของภาระผูกพัน คุณควรนำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาเพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างเฉียบคม
❇️ 6) อย่าฝากทั้งชีวิตไว้ในตะกร้าใบเดียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันท้าทายนี้ วิธีหนึ่งคือการค้นหาความหมายของชีวิตและสิ่งที่ทำอยู่ หลาย ๆ ท่านน่าจะรู้จักคำว่า self-esteem เป็นอย่างดี คืออย่างน้อย ๆ ถ้าทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าขึ้นมาได้ โมเมนตั้มดี ๆ ก็จะเริ่มเหวี่ยงมาหาเรา ทั้งนี้ทั้งนั้น การค้นหาสิ่งที่ชอบ ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ก็ไม่ควรจำกัดอยู่แค่หน้าที่การงานในองค์กรเสมอไป มิเช่นนั้นคุณอาจต้องเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่นกว่าจะพบสิ่งที่ตามหา ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างควบคู่ไปกับงานประจำก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว อาจเป็นได้ทั้งการเริ่มทำในสิ่งที่คุณชอบมันจริง ๆ ที่ในภายภาคหน้าอาจต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้เสริมได้ หรือจะเป็นการเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่มหรือสมาคมไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้สาธารณะเพื่อเติมเต็มความหมายให้ชีวิตก็ได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ คือ หกวิธีสู่การหลุดพ้นจากช่วงเวลายาก ๆ ในชีวิต ที่คุณสามารถลงมือทำได้ทันที โดยขอให้พึงตระหนักไว้เสมอว่า ฝนไม่มีทางตกทุกวันฉันใด ชีวิตก็ไม่มีทางที่จะเจอแต่ช่วงเวลาแย่ ๆ ฉันนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ และคุณไม่ได้กำลังต่อสู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง ทีมงาน A Cup of Culture ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านในการฟันฝ่าอุปสรรคและพบกับวันที่สดใสในเร็ววันครับ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
.
.