ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเครียดและความไม่แน่นอน ในฐานะองค์กรสิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ที่ควรคำนึงถึงคือสภาพจิตใจของทีมงานและการดูแลใส่ใจที่ต้องมากเป็นพิเศษ ในแบบที่ไม่ใช่เพียงเพื่อสงสาร เห็นใจ หรือให้ใครได้สิทธิพิเศษ แต่เป็นการทำความเข้าใจ เพื่อปรับการทำงานให้ยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขจำเป็น และพาทีมไปข้างหน้าด้วยกัน
เพราะฉะนั้นการที่หัวหน้าหรือผู้นำจะต้องทั้งดูแลตัวเอง ดูแลลูกทีม และพาทีมให้ผ่านช่วงวิกฤตเช่นนี้ไปได้ ตัวผู้นำเองต้องทั้งเข้มแข็ง และกล้าเปิดเผยด้านที่อ่อนแอ ดูแลตัวเองให้เป็นแบบอย่าง สื่อสารให้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง และพาทีมก้าวไปด้วยกัน โดยจากบทความของ HBR แนะนำแนวทางที่ผู้นำสามารถทำได้ 5 แนวทาง
=========================
🔰 1. เปิดเผยด้านที่อ่อนแอได้
ในสภาวะปัจจุบัน การดูแลสภาพจิตใจ สภาวะอารมณ์ ความเครียด และวิตกกังวลต่าง ๆ แทบจะเป็นเรื่องที่เกือบทุกคนได้รับ และเผชิญกับความท้าทายในการรับมือเพื่อดูแลตัวเองให้ยังมีสุขภาพกายใจที่ยังดีอยู่ ซึ่งแต่ละคนอาจเผชิญกับปัญหาในระดับที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในระดับไหน สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ความท้าทายนั้นเจือจางและเบาบางลงได้ ก็ต่อเมื่อคนนั้น โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งสูง หรืออำนาจ เลือกที่จะเล่าและแชร์ประสบการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่
อย่างในช่วงการ Work From Home ที่นำมาซึ่งความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการต้องเปิดเผยความเป็นส่วนตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การที่ลูกโผล่มาในตอนประชุมกับทีม หรือ ความไม่สะดวกใจเอาเสียเลยเมื่อต้องเปิดกล้องและไม่มีมุมดี ๆ ในบ้านที่เหมาะกับการวิดีโอคอล ซึ่งการที่ผู้นำ หรือหัวหน้า เลือกที่จะบอกเล่าและเปิดเผยถึงปัญหาความท้าทายที่เขาเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ สุขภาพจิตใจหรือไม่ จะเป็นปัญหาเล็กน้อย หรือความท้าทายใหญ่ แต่มันจะทำให้ลูกทีมสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์ ความเหมือนกันกับพวกเขา และที่สำคัญคือ ความกล้าหาญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างและเก็บเกี่ยวความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รวมถึงความผูกพันธ์ และผลการดำเนินงานของทีมดีที่ขึ้นด้วย
🔰 2. ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง
การพูดและบอกกับทีมงาน ว่าเราให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ทีมดูแลสุขภาพกายใจของตัวเอง เป็นเรื่องที่ดี แต่บอกอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ อย่างที่ทางทีม ACOC เชื่อและให้ความสำคัญมาตลอด ว่าการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผลลัพธ์ในเชิงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะน้อย สิ่งที่ทำได้ยากกว่า แต่ก็นำมาซึ่งประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่มากกว่า ก็คือการทำเป็นแบบอย่าง เพื่อแสดงให้พนักงานเห็นว่าเราใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริง ๆ พร้อมกับบอกด้วยการกระทำว่า แบบนี้คือทำได้ และควรที่จะทำเลย เปิดโอกาสให้พนักงานได้เห็น ว่าการออกไปเดินเล่นระหว่างวัน นัดหมายนักจิตวิทยา ให้เวลาพักเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้กระทั่ง งดตอบอีเมลหรือถามเรื่องงานนอกเหนือจากเวลางาน เป็นเรื่องที่ทำได้ เพื่อดูแลตัวเองให้มีแรงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
🔰 3. อย่าปล่อยให้ check-in เป็นแค่การอัพเดตเรื่องงาน
โดยปกติแล้ว weekly check-in เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของทีม แต่ในบริบทสถานการณ์เช่นนี้ ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากในบริบทที่ต่างคนต่างทำงานที่บ้าน ทำให้เราไม่สามารถสังเกต หรือรับรู้ได้ง่ายอย่างที่อาจจะเคยสัมผัสได้เมื่อเจอกันในที่ทำงาน ว่าตอนนี้ทีมดูเหนื่อยล้า หรือ กำลังมีปัญหาบางอย่าง เพราะฉะนั้น อย่าเพียงแค่ถามว่าช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง แบบผ่าน ๆ และตัดเข้าสู่การอัพเดตว่าการดำเนินงานไปถึงไหนแล้ว แต่ให้ถามคำถามที่สำคัญ และเฉพาะเจาะจง โดยให้เวลากับมันจริง ๆ เพื่อฟังว่า อะไรคือสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือ และสนับสนุนเขาได้จริง ๆ เพื่อเป็นผลดีต่อตัวเขาและทีม เปิดโอกาสและสนับสนุนให้เขาถามสิ่งที่อยากถาม แชร์ความกังวลที่อยากให้เรารู้ ซึ่งบทบาทสำคัญของเราในตอนนั้น ไม่ใช่การหาคำตอบ วิธีการแก้ไข หรือทางออก หรือแม้กระทั่งถามเจาะลึกไปในรายละเอียดที่เขาอาจะไม่ได้สะดวกใจจะเล่านัก แต่เป็นการรับฟัง และแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจอย่างจริงใจ เพื่อบอกกับทีมว่า สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และเขาพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ
🔰 4. ชวนทีมออกแบบการทำงานที่เน้น ‘ความยืดหยุ่น’
เมื่อพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถคิด หรือทำโดยอิงจากสิ่งที่ทำอยู่ หรือ best practice ของทีมหรือองค์กรที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียวได้ แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยได้ และควรทำ คือการสื่อสารเชิงรุก ในการส่งเสริมให้ทีมมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้นำควร ชวนทีมออกแบบ รูปแบบการทำงาน รวมถึงตารางเวลา และขอบเขตที่แต่ละคนต้องการด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยที่ผู้นำ สามารถริเริ่มและทำเป็นตัวอย่างลูกทีมได้เลย
ตัวอย่างเช่น หากผู้นำมีเรื่องทางบ้านที่ต้องรับผิดชอบดูแล ให้สื่อสารกับทีมได้ว่า ในช่วงนี้เขาต้องรับผิดชอบดูแลเด็ก ๆ ในบ้านด้วย เพราะฉะนั้นเขาจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนเวลาการทำงาน และมีชั่วโมงที่แตกต่างไปจากเดิม พร้อมกับชวนให้ทีมงานแชร์ข้อจำกัดและสิ่งที่แต่ละคนต้องการ เพื่อช่วยให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น อะไรก็ตามที่ช่วยให้ทีมสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ความสำคัญในการพูดคุย สื่อสาร และปรับเปลี่ยน เพื่อสมาชิกทีมสามารถให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจ ซึ่งรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนี้ อาจหมายถึงเวลาการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้กระทั่งจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการลดมาตรฐานการทำงานและคุณภาพของทีมลง ซึ่งอีกสิ่งสำคัญที่ผู้นำสามารถทำได้คือการเน้นย้ำ และสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ให้สมาชิกทีมทุกคนอดทนและเข้าใจสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยให้เชื่อมั่นสมาชิกทีมว่าเขากำลังเลือกทางที่เป็นผลดีที่สุด ซึ่งความเชื่อใจนี้จะนำไปสู่การรับรู้และจดจำว่าหัวหน้าให้การปฏิบัติต่อเขาและทีมอย่างไรในช่วงสถานการณ์ไม่แน่นอนเช่นนี้
🔰 5. สื่อสารให้มากเป็นพิเศษ
ในช่วงสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนและไวต่อความเครียดความกดดัน การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมาก ๆ ในฐานะผู้นำต้องมั่นใจว่าทุกข้อมูล ทุกการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ได้รับการสื่อสารที่ดี ชัดเจน และส่งไปถึงพนักงานทุกคนในทุกระดับอย่างส่ม่ำเสมอ ผู้นำสามารถลดความเครียดและความวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นในทุก ๆ ความเป็นไปได้ โดยใช้การสื่อสาร สื่อสารความคาดหวังถึงปริมาณงาน (workload) เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน โดยไม่ต้องกังวลไปเองว่าต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่กล้าให้ตัวเองพัก หรือ สื่อสารถึงลำดับความสำคัญของงาน ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และอะไรที่สามารถเลื่อนหรือ ขยับออกไปก่อนได้ นอกจากนี้ หากองค์กรมีเครื่องมือ หรือตัวช่วยในด้วยการดูแลสุขภาพจิตใจให้กับพนักงาน อย่าคิดว่าพนักงานทุกคนรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้น แต่ให้สื่อสารและส่งเสริมให้พนักงานสามารถเลือกใช้เครื่องมือเหล่านั้นได้ถ้าหากพวกเขาต้องการ
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลทีมช่วง WFH
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporate culture
organizational culture
.
.
>>>>

อ้างอิง:
https://hbr.org/2020/08/8-ways-managers-can-support-employees-mental-health
.
.
>>>>
