ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามนุษย์เราต่างมีความเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ และโดยเฉพาะในช่วงของโควิดที่เราถูกแยกออกมาจากกันและกันมากขึ้น ความเป็นกลุ่มสังคมกลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามในการรักษาไว้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกับคนที่ยังคงทำงานที่บ้านอยู่
นั่นทำให้โจทย์ใหญ่ของหลาย ๆ องค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่เปิดให้ทำงานที่บ้านได้คือทำอย่างไรองค์กรเราถึงจะยังสามารถสร้างความเป็นสังคมการทำงานที่ดีได้เพราะนอกเหนือจากจะเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพพนักงานแล้ว ยังส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพนักงาน การทำงานร่วมกัน และประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย และวันนี้เรามีแนวทางการฟื้นคืนสังคมการทำงานให้กลับมา สำหรับทั้งองค์กรที่เพิ่งกลับเข้าออฟฟิศ และองค์กรที่ทำงานที่บ้านกัน
1. สร้างโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกัน
การจัดการเรียนรู้ภายในองค์กรนั้นนอกเหนือจากองค์ความรู้โดยตรง แต่รวมไปถึงการที่ทีมงานผู้จัดการอบรมรู้สึกดีกับงานของตัวเองมากขึ้นด้วยการมีโอกาสได้สวมบทบาทของการเป็น “โค้ช” และสำหรับหลาย ๆ คนอาจรู้สึกว่าเป็นหนึ่งในบทบาทที่พวกเขาชอบที่สุดในการทำงานอีกด้วย
และที่สำคัญการสร้างช่องทางให้พนักงานได้เรียนรู้จากกันและกันเองนั้นคือหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการสร้างสังคมการทำงานที่น่าอยู่อีกด้วย และในการเริ่มต้นนี้กระบวนการไม่จำเป็นต้องจัดอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่า “มีใครมีเรื่องถนัดที่สนใจอยากสอนคนอื่นบ้างไหม?” และขั้นตอนถัดไปก็เพียงแค่นัดหมาย Zoom สอนกัน โดยเนื้อหาไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะในเรื่องงาน ตัวอย่างของคลาสเหล่านี้อาจจะได้แก่ การทำค็อกเทล เย็บปักถักร้อย หรือเต้น การทำอย่างนี้นอกเหนือกจากจะเป็นการทำความรู้จักกับทักษะลับ ๆ ของพนักงานเราแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และชุมชนการทำงานที่ดีอีกด้วย
2. ใช้ประสบการณ์ร่วมให้เป็นประโยชน์
งานวิจัยพบว่างานเลี้ยงวันเกิด วันครบรอบ งานสังสรรค์ต่าง ๆ นั้นมีผลต่อการสร้างขวัญกำลังใจ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลังจากที่เวลาผ่านไปแล้วการย้อนระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นโดยเฉพาะความทรงจำดี ๆ ที่มีร่วมกันในอดีต และความสำเร็จที่ผ่านมา คือสิ่งที่มีผลต่อการลดความเครียดในที่ทำงาน และความเหงา
นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการกระตุ้นให้พนักงานใจดีคนคนอื่น ๆ มากขึ้น และมีงานวิจัยที่พบว่าการนึกถึงความทรงจำดี ๆ ในที่ทำงานเพียงไม่กี่นาทีก่อนเริ่มงานนั้นส่งผลให้พนักงานจัดการความเครียดได้ดีขึ้นตลอดวัน ดังนั้นในการสร้างชุมชนที่ดีในการทำงานองค์กรควรมองหาโอกาสในการสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกันนอกเหนือจากเวลางาน
3. รับประทาน หรือ ทำอาหารร่วมกัน
การทำอาหาร และรับประทานอาหารร่วมกันนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานแล้ว ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการทานอาหารร่วมกันยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฝึกการทำงานเป็นทีมไปในตัวโดยเฉพาะในบริบทที่แตกต่างจากเดิม เช่น เมื่อต้องทำอาหารร่วมกัน รวมไปถึงเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น องค์กรควรมองหาโอกาสในการที่พนักงานจะได้มีมื้ออาหารร่วมกัน ตัวอย่างเช่นการทานอาหารเที่ยงในห้องประชุม ในลักษณะของ brown bag meeting การชวนกันไปทานร้านอาหารใกล้ ๆ หรือแม้แต่ชวนกันทำอาหารเมื่อมีโอกาสได้ไปทำงานนอกสถานที่ร่วมกัน
4. สร้างประสบการณ์ใหม่แบบออนไลน์
แม้ว่าหลาย ๆ ที่เราจะเป็นการทำร่วมกันแบบออนไลน์ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่สามารถมีกิจกรรมร่วมกันได้ กิจกรรมอย่างเช่นในทีมงานของ YouTube เขาได้มีกิจกรรมที่เสนอ Album เพลงให้ทีมไปฟังกันทุกคน หรือเมนูอาหารที่ชวนกันต่างคนต่างทำตามความถนัด
นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อนการประชุมก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทีมงานจะได้ทำความรู้จักกันเพิ่มเติมผ่านการพูดคุยแบบ Open หรืออาจจะมีคำถามชวนคิดที่ให้เตรียมคำตอบกันมาคุยได้เช่น
– ถ้าให้ทุกคนบนโลกมีพลังพิเศษได้ 1 อย่าง จะให้เป็นอะไร
– อะไรคือบทเรียนสำคัญที่อยากให้ทุกโรงเรียนมีสอน
คำถามสนุก ๆ ชวนติดเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพยายามทำความเข้าใจกันและกัน และรู้จักมุมมองที่แตกต่างของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนเพื่อเปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้
5. ชวนกันพักและฟื้นฟู
Burnout กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยกันไปแล้ว โดยเฉพาะหลังจากโควิดระบาดโดยยิ่งในช่วงของการ Work from home แล้วการสำรวจยังพบว่าคน 92% ไม่สามารถตัดขาดจากงานได้เมื่ออยู่นอกเวลางานแล้ว และนั่นยิ่งทำให้ความเหนื่อยล้า และการ burnout เพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ที่
ซึ่งวิธีในการแก้ปัญหา Burnout นั้นก็มีวิธีที่หลากหลาย แต่หนึ่งในใจความสำคัญของการแก้ปัญหานี้อย่างถาวรคือมันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคนรอบข้าง เพราะพนักงานคนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถพักได้ง่าย ๆ หากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานยังคงส่งข้อความมาหาอยู่นอกเหนือเวลางาน
และนี่เองคือจุดที่เป็นโอกาสของการสร้างสังคมการทำงานที่ดีขึ้นได้โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานเป็นทีมเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน อาจจะเป็นการจัด session การวางแผนเพื่อให้ทุกคนได้พักจากงาน พร้อมให้โจทย์กับแต่ละทีมในการแก้ปัญหานี้ และอาจจะมีการนัด coaching session เป็นทีมเพื่อพูดคุยถึงอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาสำหรับสัปดาห์ถัดไป
ทั้งหมดนั้นคือ 5 ตัวอย่างที่องค์กรสามารถทำได้หากต้องการสร้างสังคมในการทำงานที่น่าอยู่ เพราะสังคมการทำงานที่ดีนั้นจะช่วยให้ทีมงานของเราได้สร้างสรรค์ผลงานที่น่าตื่นเต้นไปด้วยกัน เปลี่ยนที่ทำงานของเราจากที่แค่ทำงานไปวัน ๆ แต่เป็นทำงานเพื่อไปข้างหน้า และสุดท้ายคือมันยังทำให้พนักงานเก่ง ๆ อยากที่จะอยู่กับองค์กรไปยาว ๆ อีกด้วย
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.