ทุกครั้งที่เราตั้งเป้าหมายในเชิงพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง เช่น การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก หรือการพัฒนาทักษะ เป็นต้น สิ่งที่มักเกิดขึ้นตามมาคือ เรามักจะมีแรงฮึดมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นอยู่เพียง 3-4 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มใส่เกียร์ว่างบ้าง ข้ามบ้าง หรือลืมบ้าง และก็กลับไปสู่วงจรความเคยชินเดิม
คุณ Jim Kwik ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการใช้สมอง (Brain Coach) และเป็นโค้ชผู้บริหารในบริษัทชั้นนำมากมายเช่น Nike Google เป็นต้น ได้แชร์เคล็ดลับในการบูทสมองให้สามารถเกาะติดและอยู่กับเป้าหมายนั้นๆ ได้ต่อเนื่องตลอดปี สามารถสรุปเป็นเทคนิคฝึกสมองด้วยกิจกรรมง่ายๆ 5 ข้อดังนี้
เทคนิคที่ 1: การเขียนสิ่งที่ต้องทำด้านจิตใจ (Mental To Do List)
การเขียนสิ่งที่ต้องทำ หรือที่เรียกว่า ‘To-do list’ เป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นชินอยู่แล้ว มันคือการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จนั้นมีอะไรบ้าง รายการไหนควรทำก่อนทำหลัง… แต่การเขียนสิ่งที่ต้องทำด้านจิตใจ (Mental To Do List) ที่คุณ Jim Kwik กล่าวถึงคือ การนึกภาพหรือการจินตนาการถึงสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในวันนั้นๆ รวมถึงการนึกถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นเมื่อฉันทำสิ่งนั้นสำเร็จ
ฉะนั้น สิ่งที่คุณ Jim Kwik มักทำในทุกวันๆ คือ 1) การไม่จับโทรศัพท์ในช่วง 30 นาทีแรกหลังการตื่นนอน 2) การนึกภาพหรือการจินตนาการภาพความสำเร็จในเรื่องส่วนตัว 3 เรื่อง และ 3) การนึกภาพหรือการจินตนาการภาพความสำเร็จในเรื่องการงาน 3 เรื่อง
เทคนิคที่ 2: ให้เวลากับอาหารมื้อเที่ยง (โดยไม่ทำอย่างอื่นแทรก)
การกินอาหารไปด้วยดูเน็ตฟริกหรือยูทูปไปด้วยพร้อม ทำให้สารเคมีแห่งความสุข ‘โดปามีน’ หลั่งอย่างรวดเร็ว ทำให้เรารู้สึกว่าอาหารอร่อย เอนจอยกับการกินอาหารมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เรากินข้าวเยอะเกินไป (โดยไม่รู้ตัว) เสี่ยงอ้วน หรือไม่มีสมาธิกับการกินอาหารตรงหน้า การโฟกัสกับการกินอาหารตรงหน้าโดยไม่ทำอย่างอื่นแทรก ช่วยให้ร่างกายคุณรับรู้สภาวะการกินและย่อยอาหารได้ชัดเจนขึ้น กระเพาะทำงานได้ดีขึ้น
เทคนิคที่ 3: อ่านนิยายก่อนนอน
การอ่านนิยายเบาๆ ก่อนเข้านอนช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และยังส่งเสริมทักษะการจินตนาการด้วย นอกจากนั้นยังช่วยเสริมทักษะสมองในด้านการโฟกัส การรับรู้มุมมองที่หลากหลาย และการเชื่อมโยงเรื่องราวด้วย ซึ่งยอมเป็นประโยชน์ในทางอ้อมในการทำงานด้วย
เทคนิคที่ 4: พักเพื่อเช็คอินตัวเองทุก 60 นาที
การเช็คอิน คือ การกลับมาตรวจสอบสภาวะภายในของตนเอง ผ่านการถามกับตนเองทุกๆ 60 นาทีว่า “ตอนนี้ฉันรู้สึกอย่างไรบ้าง? ฉันกำลังเสียสมดุลหรือเปล่า?” เพื่อดูว่าขณะนี้ตัวเรากำลังอยู่ในสภาวะวิตกกังวลหรืออยู่ในภาวะเครียดไหม… ความรู้สึกภายในโดยภาพรวมยังโอเครอยู่ไหม… เพราะเมื่อใดที่สมองไม่สมดุล มันจะเข้าสู่ภาวะต่อสู้หรือหนีทันที ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเป้าหมายหรือปณิธานที่เราตั้งไว้ได้
เทคนิคที่ 5: เปลี่ยนภาษาที่คุณพูดกับตนเอง
แทนที่จะพูดว่า “ฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้” ให้ถามตัวเองว่า “ฉันจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร” เพราะสมองชอบคำถามปลายเปิด มันกระตุ้นให้เราค้นหาคำตอบบางอย่าง.. และการเปลี่ยนจากคำว่า “ปัญหา” เป็น “ความท้าทาย” คำว่าปัญหากระตุ้นให้สมองสู้หรือหนีและต้องการหนีจากปัญหา แต่การพูดว่า “ฉันมีความท้าทาย” สมองมองสิ่งนี้เหมือนปริศนาและต้องการแก้ไข
เทคนิคที่ 6: กำหนดลมหายใจก่อนนอน
เทคนิคการหายใจที่คุณหมอ แอนดรูว์ เวล แนะนำสามารถจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “การหายใจแบบ 4:7:8” โดยเราจะหายใจเข้า 4 วินาที กลั้นหายใจ 7 วินาที และผ่อนลมหายใจ 8 วินาที ซึ่งเราสามารถทำเทคนิคนี้ผ่านการนอนหงายในท่าที่ผ่อนคลายที่สุดได้ และสามารถทำซ้ำได้มากรอบตามที่ต้องการได้เลย
บทสรุป —เทคนิคทั้ง 5 ข้อนี้ ช่วยกระตุ้นให้สมองของคุณมองหาสัญญาณหรือโอกาสที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ข้อจำกัดหรืออุปสรรค
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.

https://www.inc.com/magazine/202312/jennifer-conrad/how-to-train-your-brain-to-better-accomplish-your-2024-new-years-resolutions.html
