วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สามารถดึงมาได้ทั้งข้อดี และข้อเสียของพนักงานเรา วัฒนธรรมองค์กรที่ดีช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และ productivity ในขณะที่ Culture แย่ ๆ ทำลายขวัญกำลังใจ ส่งเสริมการลาออก และการละเลยงาน ทั้งหมดนี้เรารู้กันอยู่แล้ว แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมองค์กรที่ดีแตกต่างจากที่แย่ ? วันนี้เราจะมาดูกันให้ชัดไปเลย
วันนี้เรามีการศึกษาจาก Fearless Culture ที่เก็บข้อมูลจาก กว่าห้าพันกลุ่มจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกที่เขาค้นพบองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่างที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีกับแย่นั้นต่างกันอย่างไร
เริ่มจากนิยามแล้วเขาสรุปว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุดคือที่ที่มีบรรยากาศที่เปิดรับ ปลอดภัย และเอื้อให้เกิดการทำลอง ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กรที่แย่ที่สุดคือบรรยากาศการทำงานที่พนักงานกลัวที่จะพูดความเห็น หรือกลัวความผิดพลาดจนไม่ทำอะไรเลยดีกว่า หรือบรรยากาศที่ทำให้ชีวิตการทำงานเหมือนเดินผ่านกับระเบิด
และต่อไปนี้คือ 5 อย่างที่แยกวัฒนธรรมองค์กรดี ๆ กับที่แย่ ๆ ออกจากกัน
1: การสื่อสารที่เปิดเผย และต่อเนื่อง
เวลาที่องค์กรไม่โปร่งใส พนักงานจะรู้สึกแปลกแยก ไม่ได้รับการสนับสนุน และไม่ถูกเห็นค่า ซึ่งนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจในองค์กร โดยจากผลสำรวจพนักงาน 89% ระบุว่าการสื่อสารที่เปิดเผย และต่อเนื่องนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของวัฒนธรรมองค์กรที่ดี พนักงานจะรู้สึกมีคุณค่า และได้รับการให้เกียรติทำให้พวกเขาพร้อมที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้กับองค์กร และการสื่อสารมากเกินไปนั้นดีกว่าน้อยเกินไปเสมอ องค์กรที่การสื่อสารระหว่างระดับผู้จัดการและพนักงานเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอนั้นมีโอกาสการลาออกน้อยกว่าปกติถึง 50%
นอกจากนั้นแล้วพนักงาน 86% ระบุว่าการสื่อสารคือที่มาสำคัญของความล้มเหลวขององค์กรพวกเขา การสื่อสารที่โปร่งใสนั้นไม่ได้หมายถึงให้บอกทุกอย่างกับพนักงาน แต่คือการไม่ปิดบังข้อมูลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะข่าวร้าย นอกจากนั้นในประเด็นเรื่องของการสื่อสารแล้วปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารที่ล้มเหลวในองค์กรคือการที่ผู้นำสื่อสารกฏ หรือเงื่อนไขบางอย่างแต่ไม่ทำเสียเอง หรือคือการที่คำพูดของผู้นำกับการกระทำไม่ตรงกัน
2: งานที่ดี และมีความหมาย
พนักงานอยากที่จะรู้สึกว่าตัวเองกำลังสร้างผลกระทบบางอย่าง และเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ โอกาสในการทำงานในโปรเจคที่ท้าทาย และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นส่งผลช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน โดยพนักงานที่รู้สึกว่างานมีความหมายนั้นมักจะมีโอกาส engage กับงานมากกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ยถึง 2.3 เท่า และมักจะอยู่กับองค์กรนานกว่าคนอื่น ๆ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 ปี
นั่นไม่ได้หมายความว่าองค์กรต้องทำอะไรเพื่อสังคมให้มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วงานธรรมดา ๆ แม้แต่งานภารโรงก็มีความหมายได้ ถ้าองค์กรชัดเจนถึง mission ของตัวเองและสื่อสารไปยังพนักงานในฐานะส่วนหนึ่งของภารกิจนี้ได้ นอกจากนั้นแล้วอีกสิ่งที่ส่งผลต่อการมีความหมายคือความเชี่ยวชาญ ดังนั้นองค์กรควรมีสภาพแวดล้อมเอื้อให้คนเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อทำงานที่มีความหมายออกมาได้
3. ความเป็นส่วนหนึ่ง และความเป็นชุมชน
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น สังคมและความเป็นส่วนหนึ่งคือพื้นฐานของชีวิตเรา แต่ผู้นำส่วนใหญ่กลับประเมินความสำคัญของเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งช่วยส่งเสริม performace ในงานได้ถึง 56% พร้อมกับเอื้อให้เกิดผลลัพท์ทางธุรกิจที่ดี และวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง
พนักงานหลายคนให้ความเห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญว่าเขาทำงานกับใคร มากกว่าทำงานที่ไหน เพราะทุกคนอย่างจะทำงานกับคนดี ๆ ทั้งในด้านความสามารถทางอาชีพ และลักษณะนิสัย องค์กรจึงควรที่จะส่งเสริมให้พนักงานได้รู้สึกกันให้มากขึ้น มากกว่าแค่การทำงานในตึกเดียวกัน
4: ความเป็นเจ้าของ และความเป็นอิสระ
ปัจจัยสำคัญอีกข้อคืออิสระ และความเป็นเจ้าของในงาน ในองค์กรที่วัฒนธรรมพังนั้น พนักงานจะรู้สึกว่าถูก micromanage ตลอดเวลา ในขณะที่องค์กรดี ๆ พนักงานจะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าของชิ้นงานได้เต็มที่ ในด้านของความต้องการของพนักงานแล้ว อิสระ คือรางวัลที่มีค่าที่สุดที่องค์กรสามารถมอบให้กับพนักงานได้
ผู้นำที่ชอบควบคุม และสั่งการคือสัญญาณของวัฒนธรรมองค์กรที่พัง ไม่ใช่ที่ดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามอิสระ และความรับผิดชอบต้องเป็นเรื่องที่ไปด้วยกัน พนักงานจะกระตือรือร้นในการสร้างผลงานมากกว่าถ้าพวกเขารู้สึกว่าเขามีอิสระในการตัดสินใจและเป็นเจ้าของตัวงาน เขาจะทำงานหนัก ตั้งคำถาม และพัฒนาผลงานของตัวเองโดยไม่ต้องให้บอก
แต่ถ้ามีอิสระ หรือความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งมักจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในบางรูปแบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในความผิดพลาดของหลาย ๆ องค์กรในการให้อิสระกับพนักงานเพิ่ม โดยลืมพัฒนาความเป็นเจ้าของ และความรับผิดชอบลงไปด้วย หรือการให้ความเป็นเจ้าของโดยไม่ให้อิสระมักจะนำมาซึ่งความน่าหงุดหงิดของการที่ต้องทำตามแบบแผนเดิม แต่จะเอาผลลัพท์ใหม่ ๆ ที่ดีกว่า
5: ความหลากหลายในองค์กร
ความหลากหลายในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงมากในด้านข้อดี และข้อเสียแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ แต่เรื่องที่ต้องพูดคือในขณะที่หลายองค์กรพยายามเพิ่มโควต้าของพนักงานให้หลากหลายมากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น
ในความเป็นจริงแล้วประโยชน์ต่าง ๆ ของการมีความหลากหลายในองค์กรจะเกิดจากการออกไอเดียที่หลากหลาย ในหลาย ๆ บริบท แต่การแค่เอาคนเข้ามาให้หลากหลายไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องนี้โดยตรง องค์กรต้องไม่ลืมที่จะนำความหลากหลายเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ด้วย และส่งเสริมให้พนักงานนำมุมมองส่วนตัวมาใช้ในงานเพื่อสร้างบรรยากาศของความคิดเห็นที่หลากหลายไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มความหลากหลายของพนักงานในองค์กร
:::::::::::::::::::::
ในการที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีนั้นองค์กรควรที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน สร้างการสื่อสารที่เปิดเผย เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานที่มีความหมาย และให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าทำได้แล้วบรรยากาศขององค์กรจะเป็นที่ที่พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พร้อมที่จะฟันฝ่าเพื่อภารกิจขององค์กรอย่างมีความสุข และสร้างผลงานที่ดีที่สุดเสมอ และถึงแม้จะไปถึงจุดนั้นได้แล้วก็ต้องอย่าลืมว่าวัฒนธรรมองค์กรคือกระบวนการที่ไม่มีที่สิ้นสุด และควรคอยสำรวจและพัฒนามันอย่างต่อเนื่อง
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.