คำพูดที่ว่า “เราคือคนที่ปล่อยให้ตัวเองดูยุ่งอยู่ตลอดเวลา…” ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนักในโลกปัจจุบันนี้! ที่ทุกคนพยายามจะ “KEEPING UP WITH EVERYTHING” หรือ “เกาะติดกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น” ดังนั้น เมื่อเราเดินบนเส้นทางแห่งความยุ่ง.. ความจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ “เมื่อเราเลือก Busyness ≠ มันจะไม่ได้ Productive”
บทความจาก Fast Company โดย Elizabeth Grace Saunders ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเวลา ได้กล่าวว่า “หนทางเดียวที่จะออกจากลูปของความยุ่ง คือ หยุดความยุ่งที่ตัวคุณสร้างขึ้นมาเอง” และนี่คือ 5 ความยุ่งที่คนเรามักสร้างขึ้นมาเองพร้อมข้อแนะนำ ดังนี้
(1) ยุ่งเพราะเกาะติดทุกเรื่องมากเกินไป
โลกที่ข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ข่าว หนัง ทีวี หรือโซเชียลมีเดียล หลั่งไหลมาสู่ตัวเรา 24/7 ยังไม่รวมถึงเรื่องราวในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการคอยอัพเดตโปรไฟล์ใน LinkedIn การแสดงความยินดีกับผู้คนในเน็ตเวิร์คของคุณ หรือการคอยเช็คและอ่านข้อความที่ป็อปอัพขึ้นมาบนหน้าจอ รวมทั้งหลังเลิกงานแล้ว ก็ต้องคอยอัพเดตเรื่องราวต่างๆ บนโลกโซเชียล หรือแคปหนังใหม่ไว้ในลิสต์ที่จะดูบน Netflix เป็นต้น
ข้อแนะนำ – เป็นเรื่องยากมากที่จะหลีกเลี่ยงข้อมูล สิ่งที่คุณทำได้คือ “กำหนดว่าสิ่งไหนสำคัญ” และพยายามกำจัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป และกำหนดเวลาเช่น เล่น TikTok วันละ 30 นาที หรือเล่นได้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ เป็นต้น
(2) หลุดโฟกัสมากเกินไป
เมื่อตั้งใจอย่างดิบดีว่าจะลงมือทำงาน จะนั่งปั่นรายงานที่คั่งค้างให้เสร็จในวันนี้! ยังไม่ทันที่จะเริ่มเปิดไฟล์ข้อมูล ความคิดในหัวก็ผุดขึ้นมาว่า “เข้า YouTube สัก 5 นาทีก่อนดีกว่า บิ๊วอารมณ์ก่อนทำงาน” และสุดท้ายจบลงที่ 2 ชั่วโมงผ่านไปบน YouTube (5 นาทีไม่มีอยู่จริง!) และในท้ายที่สุด จบวันหนึ่งวันไปด้วยการสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา
ข้อแนะนำ – จัดการสิ่งเร้ารอบตัวก่อนที่มันจะจัดการคุณ! ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือคือสิ่งที่มักจะหันเหความสนใจคุณออกไป ก็ลองหาตำแหน่งวางมันให้ไกลมือห่างตัวคุณสักหน่อย หรือเปิดโหมดห้ามรบกวน เป็นต้น
(3) เข้าสังคมมากเกินไป
การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวเป็นสิ่งที่ดี และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขภายในจิตใจของตัวเราด้วย แต่บ่อยครั้งที่การเข้าสังคมที่มากเกินไปจนสั่นคลอนคำว่า “Balance” ของชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก ยกตัวอย่างเช่น คุณใช้เวลายุ่งอยู่กับเพื่อน การประชุม และกิจกรรมต่างๆ จนไม่มีเวลาจัดบ้านให้เป็นระเบียบหรือจัดการสิ่งที่จำเป็น เช่น ซื้อของ จ่ายบิล เป็นต้น
ข้อแนะนำ – จำกัดเวลาที่ใช้ในการเข้าสังคมกับผู้อื่น หรือ Booking เวลาให้ตัวเองอย่างน้อยหนึ่งเย็นในแต่ละสัปดาห์เพื่อจัดการธุระส่วนตัวให้เสร็จ และในช่วงวันหยุดก็ควรจองเวลาไว้สักครึ่งวันให้กับตัวเองในการทำเรื่องต่างๆ ที่อยากทำ เป็นต้น
(4) เที่ยวมากเกินไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การท่องเที่ยว” ชวนเพิ่มระดับความสุขให้กับตัวเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวด้วยจุดประสงค์ใด เช่น เพื่อผ่อนคลาย เพื่อเยี่ยมเยือนเพื่อนหรือญาติคนสนิท แต่ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่มากเกินไปก็อาจทำให้งานบางอย่างไม่เสร็จหรือไม่ทันตามกำหนดได้
ข้อแนะนำ – สิ่งสำคัญคือ การกลับมาถามตัวเองว่า.. การเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญจริง ๆ หรือเดินทางเพราะคุณกำลังหลีกเลี่ยงบางสิ่งในชีวิต
(5) มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป
การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบถือเป็นสิ่งดีที่บุคคลควรมี เพราะมันหมายถึงว่าคุณสามารถรับผิดชอบทั้งตัวเองและผู้อื่นได้ แต่การต้องรับผิดชอบมากเกินไป… ทำทุกอย่างอยู่คนเดียว.. หรือต้องคอยเตือนคนอื่นว่าจะต้องทำอะไรบ้าง… และรู้สึกไม่พอใจที่คนรอบตัวดูไร้ความรับผิดชอบ… ภาวะแบบนี้อาจนำพาคุณไปสู่ความทุกข์ และอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้
ข้อแนะนำ – หาให้เจอว่า.. อะไรคือสิ่งที่คุณต้องควรรับผิดชอบจริงๆ บ้าง คุณอาจต้องหยิบกระดาษขึ้นมาขีดเขียนความรับผิดชอบของตนเองในปัจจุบันและดูว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่-ไม่ใช่ และควรคืนสิ่งที่ไม่ใช่ไปสู่บุคคลที่ใช่มากกว่า
บทสรุป – หากเราพบว่าตัวเองอยู่ในข้อต่างๆ เหล่านี้ นี่อาจถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องมาเคลียร์คำว่า Busyness
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.