ปรากฏการณ์คนหาย ไลน์ไม่ตอบ หรือ Ghosting เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งในบริบทของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับคนโสดหลาย ๆ ท่าน และก็ในชีวิตการทำงานที่มักจะเกิดขึ้นจากระดับหัวหน้างานที่มีการรับปากอะไร ๆ ไว้ แล้วสุดท้ายก็เงียบไปโดยไม่มีการพูดถึงมันอีก และแม้วันนี้เราจะไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าทำไมกับคนที่คุยด้วยอยู่ดี ๆ ก็เงียบหายไป แต่ถ้าในบริบทงานวันนี้เรามีคำตอบ…
การสำรวจในปี 2020 ของ LinkedIn พบว่าคนกว่า 93% มีประสบการณ์เคยเจอการโดนเงียบหายมากับตัวโดยเฉพาะในระหว่างกระบวนการการสมัครงาน ซึ่งตัวเลขนี้น่าจะสอดคล้องกับประสบการณ์ใครหลาย ๆ คนที่เคยผ่านกระบวนการเข้าทำงานกันมาแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งหลาย ๆ คนเองก็ได้เคย Ghosting คนอื่นกันมาบ้าง อาจจะทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว
แม้จะเป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยจนเหมือนเรื่องปกติแต่การเงียบหาย หรือ Ghosting นั้นถือเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลเสียในระยะยาวได้มากกว่าที่ใครคาดคิด โดยเฉพาะเมื่อเป็นพฤติกรรมที่มาจากหัวหน้างาน ทั้งในด้านของการทำลายความสัมพันธ์ภายในองค์กร ทำลาย connection และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำเอง ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ วันนี้เรามี 4 สาเหตุที่ทำให้คนเราเลือกจะเงียบหายมาฝาก
1. ไม่กล้าปฏิเสธ
การปฏิเสธเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน และนั่นทำให้หลาย ๆ ครั้งเรามักจะถูกสถานการณ์พาไปให้ต้องตอบตกลงโดยที่ยังไม่แน่ใจ หรือไม่เต็มใจ แต่ในฐานะผู้นำนั้น การตอบตกลงต้องทำด้วยความมั่นใจ มั่นใจว่าสามารถที่จะทำในสิ่งที่รับปากไปได้ ดังนั้นตัวผู้นำเองต้องตระหนักได้เมื่อกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบให้ตอบตกลง และหลีกเลี่ยงการรับปากโดยทันที
หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการเงียบหายคือเมื่อเราพบว่าเราได้รับปากอะไรที่มันมากกว่าที่เราสามารถทำได้จริง ๆ และเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับตรง ๆ ว่าเราไม่สามารถที่จะทำตามที่ตกลงได้ไว้ด้วยความกลัวที่จะทำให้คนอื่นผิดหวัง และนั่นทำให้ผู้นำหลายคนเลือกที่จะขาดการติดต่อเพราะอาจมองว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่า และหวังว่าอีกฝ่ายจะคิดได้เอง
การปฏิเสธอาจจะเป็นเรื่องยาก กลัวที่จะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง ไม่อยากที่จะถูกใครไม่พอใจ แต่ในท้ายที่สุดแล้วการปฏิเสธตรง ๆ อาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะรักษาความสัมพันธ์ และความน่าเชื่อถือของตัวเองในระยะยาวมากกว่าการรับปากแล้วเงียบหาย
2. ความรู้สึกผิด
ในบางครั้งเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ด้วยตัวเองอาจจะเป็นการที่เรายังไม่ได้ตัดสินใจได้ชัดเจน หรือสถานการณ์ที่การตัดสินใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เช่น การชวนเพื่อนมาสมัครงานกับทีมเรา แต่หัวหน้าเราไม่ว่างจะสัมภาษณ์สักที และความรู้สึกผิดนี้ทำให้เราเลือกที่จะเงียบและขาดการติดต่อไป
เราล้วนเคยตกอยู่ในสถานการณ์ในลักษณะนี้กันมาแล้วไม่มากก็น้อย และการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมานั้นคือสิ่งที่จะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือ และความสัมพันธ์ได้ การอัพเดทสั้น ๆ ถึงสถานการณ์ตามความเป็นจริงจะช่วยให้อีกฝ่ายหายคาใจ และปลดปล่อยความรู้สึกผิดจากใจเราได้
3. หวงโอกาส
บางครั้งเมื่อมีโอกาสผ่านเข้ามามันก็ยากที่จะปฏิเสธ แต่เมื่อเรารับปากมาก่อนที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าเราสามารถทำงานนี้ได้หรือไม่ สุดท้ายแล้วหลายคนก็เลือกที่จะไม่อัพเดทความคืบหน้า แล้วค่อย ๆ หายตัวไปแทน และนั่นตัดโอกาสในอนาคตที่เราอาจจะได้จากที่นี่ไปอย่างถาวร
นั่นทำให้เมื่อมีโอกาสเข้ามาแต่ในด้านของความถนัด หรือระยะเวลาของงานไม่ได้เหมาะสมกับเรา ณ ขณะนั้นการสื่อสารตรง ๆ อาจจะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจ และเปิดรับความเป็นไปได้อื่น ๆ จากเรา หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นการตัดโอกาสในการทำงานร่วมกันอีกในอนาคต และรวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้เขาสามารถได้คนที่เข้ากับโอกาสนี้มากกว่าเราได้ทำงานอีกด้วย หรือสิ่งที่สามารถทำได้คือการเสนอคนรู้จักของเราให้เขาติดต่อ
4. ไม่ได้ตอบตกลงด้วยตัวเอง
ในบางครั้งการเงียบหายอาจจะไม่ได้เป็นความผิดของเจ้าตัวก็ได้ เพราะหลาย ๆ ครั้งเองการตอบรับอาจเกิดจากการที่คนรู้จัก หรือเพื่อนร่วมงานนัดหมายให้แทนเจ้าตัว และในสถานการณ์เหล่านี้เจ้าตัวเองก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะไม่ได้ตรงกับช่วงเวลาที่สะดวก หรือความเต็มใจที่จะทำ นั่นทำให้เจ้าตัวเลือกที่จะไม่ติดต่อกลับไป เพราะถือว่าไม่ได้รับปากด้วยตัวเอง
หนึ่งในวิธีที่ป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้คือการไม่รับปากแทนคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อเรายังไม่ทราบข้อมูลถึงภาระงานในปัจจุบันของคน ๆ นั้น หรืออย่างน้อยควรที่จะขออนุญาต หรือถามเจ้าตัวก่อนที่จะมีการรับปากไปกับคนอื่น
และนั่นคือ 4 สาเหตุที่พบบ่อยเมื่อเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าเราเงียบหายไปกับเรื่องบางเรื่อง หรือที่เราอาจจะทำกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว หลาย ๆ ครั้งเป็นเพราะความยากของการที่จะบอกข่าวร้าย ที่จะปฏิเสธ หรืออาจจะเพราะความรู้สึกผิดที่ทำให้ลังเลที่จะสื่อสารอะไรออกไป และเมื่อไม่ได้สื่อสารไปทันที และปล่อยไว้ ยิ่งนานไปเรายิ่งเลี่ยง และลืมมันไปสุดท้ายก็กลายเป็นการเงียบหายที่จะกลับเข้ามาทำลายความน่าเชื่อถือ และความสัมพันธ์ในงานเราได้ในอนาคต
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

https://www.linkedin.com/pulse/should-you-afraid-ghosting-andrew-seaman
https://hbr.org/2022/08/stop-ghosting-and-start-saying-no
