นอกเหนือจากเรื่องการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน แต่ไม่ได้รับการพูดถึงนักจะเป็นเรื่องของการทำงานนอกสถานที่ วันนี้เราจะมาดูกันว่าในการที่โควิดได้เปลี่ยนวิถีการเข้าออฟฟิศไปอย่างตลอดการ แล้วการทำงานนอกสถานที่ล่ะ จะเป็นอย่างไร
ตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากการต้องทำงานที่บ้านแล้ว เรายังพบกับการถูกจำกัดการเดินทางทั้งใน และนอกประเทศ จนยอดตัวเลขการเดินทางแบบ Business Travel ลดลงไป 90% อ้างอิงจากสถิติของ TravelPerk และในขณะที่หลาย ๆ แห่งกำลังกลับเข้าออฟฟิศ แน่นอนว่าการทำงานนอกสถานที่ก็กำลังกลับมาเช่นกัน และเป็นส่วนที่หลาย ๆ องค์กรพบว่ามันน่าปวดหัวกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก
และวันนี้เรามีบทความจาก Time management coach นามว่า Elizabeth Grace Saunders ที่จะมาพูดถึงการใช้บทเรียนจากการทำงานแบบ Remote เข้ามาช่วยเราปรับตัวเข้าสู่การทำงานนอกสถานที่ในยุคที่การมีออฟฟิศไม่ใช่เรื่องตายตัวอีกต่อไป
:::::::::::::::
✅ 1) ดูให้ดีว่าเป็นประโยชน์แค่ไหน
ในการดึงการทำงานนอกสถานที่กลับมาใช้ในเวลานี้เราควรที่จะคำนึงให้ดีว่ามันจะเป็นประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร เช่น งานในส่วนไหนที่ที่ผ่านมาการทำงานแบบออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่อยากได้ และสามารถที่จะใช้การเจอหน้ากันได้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยงานหลัก ๆ ที่ลูกค้าของคุณ Saunders พบว่าการเจอหน้ากันจะเป็นประโยชน์ที่สุดได้แก่
– กิจกรรม retreats เพื่อออกแบบกลยุทธ์องค์กร
– การเยี่ยมสำนักงานสาขาอื่นเพื่อเรียนรู้บริบท
– งานขายที่ต้องอาศัยการเจรจา
– Networking conference
ด้วยความท้าทายต่าง ๆ ที่ตามมาในการออกนอกสถานที่ ในช่วงแรกของการกลับมาเราจึงควรให้ความสำคัญกับการทำให้มันเกิดขึ้นเท่าที่จำเป็น และเป็นประโยชน์สูงสุดในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น และลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการออกนอกสถานที่โดยไม่จำเป็นลง
✅ 2) อย่ายึดกรอบการทำแบบเดิม
นอกเหนือจากการพิจารณาความจำเป็นในการทำงานนอกสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ความถี่เองก็เป็นอีกเรื่องที่สมควรพิจารณา ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยไปพบกับลูกค้าทุก ๆ ไตรมาศ หรือปีละ 4 ครั้ง เราอาจจะลองตั้งคำถามได้ถึงความจำเป็นในการต้องทำรูปแบบเดิม ๆ โดยจริง ๆ เราอาจจะสามารถทำเป็นเจอหน้า 2 ออนไลน์ 2 ก็ได้
โดยในการที่เราจะพิจารณาถึงประเด็นนี้ เราควรนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่การออกไปเจอกันมันเป็นไปไม่ได้จริง ๆ แล้วตั้งคำถามว่ามีประเด็นไหนที่ได้รับผลกระทบจากการไม่เจอกันจริง ๆ บ้าง เช่น ความสัมพันธ์กับลูกค้าเราคนไหนบ้างลดลงจากสถานการณ์นี้ และถามต่อไปว่าแล้วเจ้าไหนไหมที่การเจอออนไลน์เพียงพอต่อการรักษาความสัมพันธ์ หรือบางรายอาจจะชอบให้เจอออนไลน์มากกว่าด้วยซ้ำ
การไม่ยึดรูปแบบเดิม ๆ ในการลงพื้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าเราสามารถลดจำนวนทริปการทำงานที่ต้องเดินทางลงไปได้ เพราะสำหรับพนักงานแล้ว ทุก ๆ 1 ทริปที่ลดลงจะช่วยประหยัดทั้งเวลาการทำงาน และเวลาส่วนตัวได้อย่างมหาศาล
✅ 3) ค่อยเป็นค่อยไป
เช่นเดียวกันกับที่เราหลาย ๆ คนเริ่มพบกับคำถามที่ว่า “ที่ผ่านมาเราเดินทางไปทำงานทุกวัน ๆ ได้ยังไงนะ” การเดินทางออกนอกสถานที่ ไม่ว่าจะไปออฟฟิศ หรือลงพื้นที่งานกลายเป็นเรื่องที่ใช้พลังงานจากเรามากกว่าก่อนหน้านี้อย่างมาก เพราะหลาย ๆ คนเริ่มสูญเสียความสามารถในการเดินทางไปแล้วหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานมานานเกินไป จนทำให้การจัดกระเป๋ามันยากขึ้น การนั่งรถนาน ๆ ทรมานกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ หรือการนั่งเครื่องบินมันเหนื่อยกว่าที่จำได้มาก ๆ
ด้วยเหตุนี้คุณ Saunders จึงแนะนำให้อย่าเพิ่งหักโหมในช่วงแรก โดยพยายามอย่าให้พนักงานต้องเดินทางในระดับที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้ และส่งเสริมให้พวกเขาเริ่มต้นพัฒนาทักษะนี้ขึ้นมาใหม่ และหาจังหวะของตัวเองในปัจจุบันให้เจอ เพื่อช่วยให้พนักงานของเราไม่ burnout เพราะฝืนตัวเองมากเกินไป เพราะในช่วงนี้พวกเขามีเรื่องต้องปรับตัวมหาศาลมากแล้ว
✅ 4) เผื่อพื้นที่ให้กับความผิดพลาด และตรวจสอบให้ดีก่อนเดินทาง
เมื่อพนักงานต้องเริ่มพัฒนาทักษะการเดินทางขึ้นมาใหม่ ไปพร้อม ๆ กับระดับของความเหนื่อยล้าที่มากขึ้น องค์กรสามารถที่จะช่วยลดความท้าทายตรงนี้ได้โดยเผื่อพื้นที่ให้กับความเสี่ยงตรงนี้ไว้ล่วงหน้า เช่น จากปกติที่เราอาจจะออกเดินทางตอนเช้าตรู่เพื่อพบลูกค้าในวันเดียวกัน ในช่วงแรกอาจจะปรับให้เดินทางในคืนวันก่อนหน้าแทนเพื่อความยืดหยุ่น เพราะนอกเหนือจากประเด็นด้านความเหนื่อยล้า และความผิดพลาดแล้ว การเดินทางในปัจจุบันยังมีตัวแปรต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ เช่น การยกเลิกเที่ยวบิน การปิดพื้นที่ในบางบริเวณ เป็นต้น
นั่นพาเรามาสู่ประเด็นถัดไปคือการตรวจสอบมาตรการการเดินทางต่าง ๆ ทั้งในส่วนของระหว่างทาง เช่น เส้นการเดินรถ มาตรการสนามบิน และที่ปลายทาง เช่น นโยบายการเข้าพื้นที่ของลูกค้า หรือสถานที่จัดงาน และทั้งหมดนี้รวมไปถึงการเปิดปิดของสถานที่ สิ่งอำนวจความสะดวกที่อาจจะเปลี่ยนไป เช่น ร้านถ่ายเอกสาร หรือร้านเช่ารถบางแห่งอาจจะหายไปแล้ว และแน่นอนว่ารวมไปจนถึงมาตรการเกี่ยวกับ Covid เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับวัคซีน การแสดงผลตรวจ หรือความจำเป็นในการกักตัว
:::::::::::::::
การทำงานนอกสถานที่หลังจากภาวะโควิดเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าเมื่อก่อน เพราะเราต้องรับมือกับการฟื้นฟูทักษะการเดินทาง และเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา นั่นทำให้การที่องค์กรจะเริ่มต้นฟื้นฟูการทำงานนอกสถานที่ใหม่นั้น 4 ประเด็นก่อนหน้าที่จึงเป็นเรื่องที่สมควรแก่การพิจารณา ได้แก่การพิจารณาให้เดินทางเฉพาะที่เป็นประโยชน์จริง ๆ และไม่ยึดกรอบ และแบบแผนการเดินทางแบบเดิม ๆ เพื่อลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นลง และพร้อมไปกับค่อยเป็นค่อยไป และเลี่ยงการหักโหมกลับมาเดินทางเท่าก่อนหน้านี้ และสุดท้ายก็อย่าลืมเผื่อเวลา และเช็คความเปลี่ยนแปลงของทั้งวิธีการเดินทาง และสถานที่ปลายทางให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
.
.