คุณเป็นคนมุ่งมั่นกับงาน… หรือแค่ทำตามจ็อบ? นี่อาจเป็นคำถามสุดหินและเป็นคำถามที่จี้จุดใครหลายคน แต่หากเราลองพิจารณาคำถามข้อนี้ดีๆ คำตอบที่ได้สามารถช่วยสะท้อนให้เราเห็นถึง “ระดับการมีส่วนร่วมในงาน” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้
คำถามที่ผมสนใจคือ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีระดับการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน?” บทความชิ้นหนึ่งจาก Fast Company กล่าวว่า “ระดับการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน เป็นผลมาจากความแตกต่างกันของ Mindset ของแต่ละบุคคล” คำว่า Mindset (กรอบความคิด) คือ มุมมองที่คนๆ หนึ่งมีต่อโลกใบนี้ ซึ่งถูกสะสมมาจากประสบการณ์ การศึกษา ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย การเลี้ยงดู สังคมแวดล้อม เป็นต้น ถูกหล่อหลอมรวมเป็นชุดความเชื่อและสิ่งที่เราให้คุณค่าภายใน สะท้อนออกมาผ่านพฤติกรรมและวิธีที่เราแสดงออกต่อโลกใบนี้ (ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล) ฉะนั้น หากเรามี Mindset แบบไหน เราก็จะคิด พูด และแสดงพฤติกรรมไปในทิศทางนั้นๆ
ซึ่งระดับการมีส่วนร่วมในงานสามารถสังเกตได้จากความมุ่งมั่นต่องานที่คนคนหนึ่งมี กล่าวคือ หากบุคคลนั่นมีระดับความมุ่งมั่นที่สูง เขาก็มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและให้ความสนใจต่องานสูงตามไปด้วย เช่น จะคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนางาน มีแรงกระตุ้นที่อยากจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น กล่าวคือ “เขาจะไม่เพียงแค่ทำงานให้สำเร็จ แต่ยังรู้สึกเป็นเจ้าของในงานอีกด้วย” ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลนั่นมีระดับการมีส่วนร่วมหรือมีความสนใจในงานต่ำก็มีแนวโน้มที่เขาจะมุ่งมั่นต่ำไปด้วย ซึ่งอาจสะท้อนผ่านพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ขาดความกระตือรือร้น ใส่เกียร์ว่าง ขาดความใส่ใจ เป็นต้น ดังนั้น บทความนี้จะพาคุณผู้ฟังมาลองสำรวจตนเองผ่าน 4 คำถาม ว่าเราเป็นคนที่มีระดับความมุ่งมั่นในงานสูง หรือเป็นคนแค่ทำตามจ็อบให้เสร็จไป!
===============
คำถามข้อที่ 1:
คุณมักโฟกัสไปที่อุปสรรคหรือผลลัพธ์?
หากคำตอบของคุณคือ โดยปกติแล้วคุณมักพุ่งความสนใจไปที่ข้อจำกัด อุปสรรค หรือความคับข้องอึดอัดใจต่างๆ นี่อาจไม่ใช่คำตอบของคนที่มี Mindset ของความมุ่งมั่น เพราะคนที่มีกรอบความคิดแบบมุ่งมั่น สายตาของเขาจะโฟกัสอยู่ที่เป้าหมายสุดท้ายมากกว่าหงุดหงิดหรือหัวเสียกับปัญหาระหว่างทางที่พบเจอ คำว่า “ยอมแพ้หรือล้มเลิกกลางทางไม่อยู่ในพจจนานุกรมของพวกเขาเลย”
คำถามข้อที่ 2:
คุณจะรู้สึกอย่างไรหากไม่ได้ทำงานนี้อีกต่อไป?
ความหมายของคำถามข้อนี้ไม่ใช่เพียงแค่คุณสูญเสียรายได้จากงาน แต่รวมไปถึงตำแหน่งงานและบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่นี่ด้วย หากคำตอบที่ได้คือ คุณจะรู้สึกเสียใจ วิตกกังวล หรือรู้สึกเหมือนชีวิตขาดบางสิ่งที่สำคัญไป คุณมีแนวโน้มเป็นคนมุ่งมั่น ในทางตรงกันข้ามหากคุณรู้สึกโล่งใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก หรือคุณอาจไม่ได้รู้สึกว่าต้องทุกข์ร้อนอะไร… ความสนใจต่องานของคุณอาจไม่ได้อยู่ในจุดที่มุ่งมั่น
คำถามข้อที่ 3:
คุณมักมองหาบุคคลหรือตัวช่วยอื่นมากระตุ้นให้ทำงานหรือไม่?
แน่นอนว่าไม่มีใครรู้สึกตื่นเต้นหรือรู้สึกอยากทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ความตื่นเต้นไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญของคำตอบข้อนี้ คำว่า “วินัย” ต่างหากที่ช่วยให้คุณรักษาแรงจูงใจและความมุ่งมั่นที่มีต่องาน ดังนั้น หากคำตอบของคุณออกมาว่า อยากให้เจ้านายหรือคนอื่นมาค่อยกระตุ้นและบอกเหตุผลให้คุณอยากทำงานนี้ต่อ นี่อาจแปลว่าคุณขาดวินัยและความมุ่งมั่นในตนเอง
คำถามข้อที่ 4:
คุณมักมีกิจกรรมอื่น (ที่ไม่ใช่งาน) เข้ามาแทรกจนทำงานไม่สำเร็จหรือไม่?
คำว่ากิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่งาน อย่างเช่น การรอซีเอฟของออนไลน์ ติดซีรีย์ในเน็ตฟลิก เป็นต้น หากกิจกรรมเหล่านี้คือตัวแทรกจนทำให้คุณไม่มีเวลาหรือพลังงานในการทำโปรเจ็กต์หรืองานหลักให้สำเร็จ กิจกรรมอื่นมีลำดับความสำคัญเทียบเท่างานหลัก สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงระดับความมุ่งมั่นภายในที่ค่อนข้างต่ำของคุณที่มีต่องาน
บทสรุป —สิ่งที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำกับเราคือ “Mindset is a choice” หรือกรอบความคิดของเราคือทางเลือก แปลว่า “กรอบความคิดของเราเลือกสิ่งที่เราจะได้รับรู้” ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการมี “THE RIGHT MINDSET ต่องาน” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก!! ผมไม่ได้กำลังบอกว่าให้คุณใช้เวลาทั้งหมดทุ่มให้กับงานเพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันคือคนมุ่งมั่นนะครับ แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่าการเริ่มจากการทำความเข้าใจ “WHY” ของตัวเองก่อนคือสิ่งสำคัญ เพราะมันจะกำหนด Mindset ของเราที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้… ดังนั้น คุณต้องกลับมาถามตัวเองว่า ฉันทำสิ่งนี้ไปทำไม สิ่งนี้ให้ความหมายอะไรกับตัวฉัน และสิ่งที่ทำอยู่นี้มันสร้างประโยชน์ มันให้อิมแพ็คต่อใครบ้าง
จุดเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจตัวเองให้ชัดก่อนนี่ละครับ จะช่วยคอนเฟิร์มเหตุและผลในการเลือกกระทำบางสิ่งบางอย่างของคุณ ซึ่งส่งผลต่อระดับความสนใจและความมุ่งมั่นที่จะเกิดขึ้นตามมา
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.