“ความเป็นผู้นำ” ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับสูง ผู้จัดการทีม หัวหน้าฝ่าย หรือแม้กระทั้งหัวหน้าห้องในโรงเรียน เป็นบทบาทที่มาพร้อมกับคำว่า “รับผิดชอบ” หรืออย่างที่เราคุ้นเคยกับคำคมระดับโลกจากหนังเรื่อง Spider “With great power comes great responsibility.” พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ นอกจากความรับผิดชอบแล้วยังมีคำว่า “เป็นแบบอย่างที่ดี” พ่วงเข้ามาด้วย… แต่ขึ้นชื่อว่า “มนุษย์” จึงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ วันนี้เราจะมาคุยกันถึง 4 ข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อยในการเป็นผู้นำและวิธีแก้ไข
KeyTakeaways
- ผู้นำที่แย่มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ไม่มอบหมายงาน และไม่ให้ Feedback ทีมงาน
- ผู้นำที่มักทำผิดพลาด ส่วนมากมักขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขาดวิสัยทัศน์ หรือไม่มีศรัทธาในความสามารถของตนเอง
- ความเป็นผู้นำ = ความรับผิดชอบ+ความเป็นแบบอย่าง อยากให้ทีมงานเป็นแบบไหน ผู้นำควรเป็นแบบอย่างทั้งวิธีคิด วิธีพูด และวิธีประพฤติปฏิบัติตน
1.ไม่ให้ฟีดแบค
Not Providing Feedback
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 1,400 คนโดย The Ken Blanchard Companies “การไม่ให้ฟีดแบคหรือการไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับ” ถือเป็นข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดในบทบาทผู้นำ ผู้นำหลายคนกลัวว่าหากให้ฟีดแบคไปแล้วทีมจะโกรธหรือไม่พอใจและทำให้เสียบรรยากาศการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่ไม่ให้ฟีดแบคอย่างทันท่วงทีแก่ทีมงานของเรา นั่นคือการตัดโอกาสในการเติบโตของพนักงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตัวเขาให้ดีขึ้น
สิ่งที่ควรทำ: ประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนควรมี session ที่เปิดให้มีการฟีดแบคแบบ “Constructive Feedback” คือ การให้ฟีดแบคที่ (1) มีเป้าหมายและประเด็นที่ชัดเจนว่าเรื่องอะไร (2) มุ่งพัฒนามากกว่าทำลายความมั่นใจ และ (3) เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาได้จริง
2. ไม่กำหนดเป้าหมาย
Failing to Define Goals
ข้อเสียของการไม่กำหนดเป้าหมายหรือการไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับทีมงาน คือ พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำงานอะไร ทำไปทำไมหรืองานของพวกเขามีความหมายอย่างไร ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของภาระงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
สิ่งที่ควรทำ: นำเครื่องมือช่วยในการกำหนดเป้าหมาย เช่น SMART goals หรือใช้หลักการ Management by Objectives มาเป็นตัวเริ่มต้น
3. เป็นมิตรมากเกินไป
Being Too Friendly
ผู้นำหลายคนทำผิดพลาดในการพยายามวางตนเองให้เป็นคนที่ลูกน้องชื่นชอบ เข้าถึงได้ง่าย หรือว่าอะไรก็ว่าตามกัน (ถึงแม้ใครๆ ก็อยากเป็นที่รัก) แต่ข้อเสียคือ ผู้นำมีแนวโน้มที่จะถูกลูกน้องล้ำเสียหรือเอาเปรียบได้ง่าย ซึ่งทำให้การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนหรือการบังคับใช้นโยบายบางอย่าง เป็นเรื่องที่ผู้นำจะทำได้ยาก
สิ่งที่ควรทำ: คือคำว่า “Balance” ระหว่างการเป็นมิตรและการเป็นหัวหน้า และคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือการ “Set Clear Boundaries” หรือการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าๆ กัน หลีกเลี่ยงการใช้เวลากับคนเพียงกลุ่มเดียว หรือการออกจากห้องประชุมก่อน เพื่อให้ทีมสามารถพูดคุยกันต่อได้อย่างอิสระ หรือแม้กระทั่งการแต่งกายให้แตกต่าง
4. พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง
Saying one thing and doing another
ความเป็นผู้นำ = ความรับผิดชอบ+ความเป็นแบบอย่าง หลายครั้งที่ผู้นำพูดไว้อย่างหนึ่ง กำหนดแนวทางและความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นกับทีมงานของคุณไว้แล้ว… แต่ปรากฏว่าผู้นำทำฉีกไปอีกอย่างหนึ่ง เช่น ตั้งเป้าหมายอยากให้องค์กรมีวัฒนธรรมของการคิดนอกกรอบ เป็นองค์กรนวัตกรรม แต่ผู้นำกลับมีวิธีคิด พูด หรือประพฤติตนเองที่ไม่ได้ส่งเสริมเลย เช่น ไม่เปิดให้พนักงานลองผิดลองถูก คอยจับผิดและตำหนิอยู่เสมอๆ เป็นต้น
สิ่งที่ควรทำ: กำหนดให้ชัดว่า “ความเป็นแบบอย่าง- Role Model” ในความหมายของตัวผู้นำหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องพูดแบบไหน และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ต้องเป็นคนที่เคารพผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง… ให้เวลาในการฟังทีมงานและทำความเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังกังวล… โค้ช ฟีดแบค และให้กำลังใจพนักงาน… พยายามพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวก… เป็นต้น
บทสรุป – ในฐานะของการเป็นผู้นำหรือบทบาทที่ต้องบริหารทีมเป็นงานที่หนักและภาระรับผิดชอบที่มาก ซึ่งเราสามารถทำให้มันง่ายขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของผู้นำคนอื่นๆ แล้วนำมาประยุกต์เป็น “ผู้นำในแบบของเรา”
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.