ในชีวิตของมนุษย์มักจะมีวันสำคัญอยู่ 2 วัน คือ “วันที่ดี กับ วันที่แย่” ในวันที่ดีคงไม่ต้องกล่าวถึงมากเพราะในห้วงเวลานั้นชีวิตคุณคงเต็มไปด้วยความสุข ในทางตรงข้ามหากวันนั้นเป็นวันที่แย่ คุณคงพยายามมองหาใครสักคนเพื่อพูดคุยหรือเติมกำลังใจกัน…. แต่หากในวันนั้นคนรอบตัวคุณก็มีสภาวะย่ำแย่ไม่ต่างจากคุณละ? จะไปต่ออย่างไรดี!??
บทความจาก Fast Company กล่าวว่า “ก่อนที่สถานการณ์เชิงลบจะเกิดขึ้นกับทีมงาน ทำไมคุณไม่เริ่มจากการอ่านสัญญาณให้เป็นก่อน ก่อนที่จะปล่อยให้ทีมเผชิญกับสภาวะ “Burned out” ล่ะ??… และนี่คือ “3 ธงแดงที่ควรระวัง คนในทีมหมดไฟ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีบทบาทในฐานะผู้นำ
—————-
1) มีอาการเฉยชา ไม่แยแส (WIDESPREAD APATHY)
คุณเคยประชุมในช่วงบ่ายวันศุกร์หรือไม่? การประชุมเริ่มขึ้นและไม่มีใครส่งพลังใดๆ เลย ทุกคนพยายามมีส่วนร่วมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เพราะกลัวการประชุมจะยืนยาว) หากสิ่งนั้นเกิดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ ก็ไม่มีเหตุอะไรให้คุณต้องตื่นตระหนก แค่เพียงปล่อยให้ทุกคนกลับบ้านพักผ่อนให้เพียงพอและกลับมาใหม่ในวันจันทร์ที่พลังงานเติมเปี่ยม
แต่… หากพนักงานมีอาการแบบนี้ในทุกการประชุมล่ะ? เริ่มมีอาการเหมือนบ่ายวันศุกร์? นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าภาวะหมดไฟกำลังมาเยือน
2) ไม่ใส่ใจในรายละเอียด (INATTENTION TO DETAIL)
ไม่ใช่ทุกองค์กรจะเต็มไปด้วยสัญญาณแห่งความสุข ยิ่งในสภานการณ์ที่ต้องทำงานจากระยะไกล อาจเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ถึง “ระดับพลังงานที่แท้จริงของผู้คน” ผ่านซูมคอลหรือแฮงเอาท์วิดีโอ ยิ่งหากคนที่คุณทำงานด้วยเป็นคนที่ไม่ชอบเรียกร้องความสนใจ เรายิ่งไม่สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขาได้เลย
แต่คุณสามารถสังเกตสัญญาณบางอย่างจากงานของพวกเขาได้ เช่น โครงการที่รับผิดชอบมีการเคลื่อนไหวน้อย มีรายละเอียดเล็กน้อยที่ผิดพลาดหรือถูกมองข้ามมากมาย หรือแม้แต่งานไม่สำเร็จตามเวลา นี่อาจถึงเวลาที่คุณต้องกลับมาใส่ใจพนักงานมากขึ้น
3) เติมเชื้อเพลิงในทุกกองไฟ (GASOLINE ON EVERY FIRE)
จุดสำคัญของ “ความยืดหยุ่นในที่ทำงาน” (resilience at work) คือ ความสามารถในการรับรู้สถานการณ์ปัจจุบัน ว่ามันกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่? รวมทั้งลดหรือป้องกันไม่ให้ปัญหาเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาใหญ่ —ในทางตรงกันข้าม หากทีมงานของเรามักเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เชิงลบแถมยังชอบเติมไฟให้เหตุการณ์นั้นมากขึ้น ย่อมไม่ดีนักต่อคนอื่นในองค์กร เพราะผู้คนจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความโกรธ หรือความคับข้องใจ
ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการมี “วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” และเปิดโอกาสให้มีการฟีดแบค รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า สิ่งนี้จะทำให้เรามีทักษะในการลดพลังงานทางลบในสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั่นเอง
—————-
บทสรุป — ในฐานะผู้นำที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบทีม การหมั่นคอยสังเกตสถานการณ์หรือคอยตรวจสอบสภาวะหมดไฟอยู่สม่ำเสมอ ก็อาจช่วยให้ทีมงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำงานร่วมกันได้ดี รวมทั้งสามารถเปลี่ยนตนเองไปสู่โหมดพลังงานเชิงบวกได้
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.