การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้หลายองค์กรต้องเดินทางมาถึงจุดที่ต้อง “เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ” อาจจะด้วยเหตุผลเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความเติบโตก้าวหน้า บุคคลซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญที่ต้องนำการเปลี่ยนแปลงคงหนีไม่พ้น “ผู้จัดการและหัวหน้างาน” และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่ใช่พนักงานทุกคนจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยทัศนคติที่ว่า “ฉันชอบการเปลี่ยนแปลง หรือฉันตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน!”
ดังนั้น ในยุคที่ทุกอย่างอยู่บนความเปลี่ยนแปลง ทักษะที่สำคัญที่สุดที่ผู้จัดการและหัวหน้างาน รวมถึงตัวของพนักงานเองควรมีคือ “Managing Resistance to Change” และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อที่ช่วยให้คุณบริหารการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยอดเยี่ยม ได้แก่
:::::::::::::::::::::
✔️ 1.รับฟัง และเข้าใจสาเหตุของการต่อต้าน
สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลง (Desire) คือการรับฟังอย่างตั้งใจ ในหลาย ๆ สถานการณ์ พนักงานเพียงแค่ต้องการการรับฟังสาเหตุของการต่อต้าน การรับฟัง และทำความเข้าใจสาเหตุของการต่อต้าน มักนำมาซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหา การรับฟัง ยังสามารถช่วยให้ผู้จัดการได้มีโอกาสทราบ ความเข้าใจผิดอื่น ๆ ของพนักงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย
✔️ 2. มุ่งไปที่ “เป้าหมาย”มากกว่า “วิธีการ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงบางประเภท การสื่อสารว่าต้องเปลี่ยนแปลง “อะไร” (หรือเป้าหมายที่ต้องการ) จะก่อให้เกิดประสิทธิผลมากกว่า การสื่อสารว่าต้องเปลี่ยนแปลง “อย่างไร” กระบวนการนี้จะสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ ให้กับพนักงาน การมีส่วนร่วมของพนักงาน และความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลง (Desire)
✔️ 3.กำจัดอุปสรรคส่วนบุคคล
อุปสรรค อาจเกี่ยวข้องถึง ครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ปัญหาทางกายภาพ หรือปัญหาทางการเงิน การเข้าใจถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลและระบุอุปสรรคนั้นให้ได้อย่างชัดเจน เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านี้ได้
✔️ 4.ให้ทางเลือกที่ง่าย ชัดเจน และชี้ให้เห็นถึงผลที่ตามมา
สร้างความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงโดยการให้ทางเลือก สร้างการมีส่วนร่วมในทางเลือกโดยการให้พนักงานสามารถเลือกได้ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้จัดการสามารถสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของโดยการให้อำนาจในการควบคุมทางเลือกนั้น ๆ กับพนักงาน สุดท้ายการสื่อสารเกี่ยวกับทางเลือกและผลที่ตามมากับพนักงานแต่ละคนในวิธีที่ง่าย และชัดเจน
✔️ 5.นำเสนออนาคตที่ดีกว่า
ผู้คนส่วนมากมักตอบสนองต่อโอกาสเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ผู้จัดการสามารถสร้างความปรารถนาในการปลี่ยนแปลง (Desire) โดยการเล่าเรื่องความปรารถนาและความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อกระตุ้นบรรยากาศ และสร้างความกระตือรือร้น พนักงานจะมีความหวัง และปฏิบัติตามผู้นำที่ตนเองเคารพ และไว้วางใจ
✔️ 6.แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้
การแสดงให้เห็นประโยชน์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น บอกเล่ากรณีตัวอย่าง เชิญแขกผู้มีประสบการณ์เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการตัวอย่าง หรือผลลัพธ์ของการเริ่มต้นโครงการ
✔️ 7.ใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในการโน้มน้าว
ความเชื่อมั่นจะเกิดผลได้ดีจากการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ความสัมพันธ์ที่เปิดเผย อันจะนำมาซึ่งการสร้างความเคารพและความไว้วางใจ ตัวอย่างการแสดงถึงความเชื่อมั่น เช่น
“พี่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงนี้”
“มันสำคัญสำหรับผมมาก”
“พีต้องการการสนับสนุนจากพวกเรา”
“พวกเราจะสามารถช่วยพี่ได้ ในการทำให้โครงการนี้สำเร็จไปด้วยกัน”
✔️ 8.ดึงผู้ที่ต่อต้านรุนแรงมาเป็นพวก
ผู้ที่ต่อต้านรุนแรงและมีอิทธิพลในการสร้างการต่อต้าน มักมีอิทธิพลในการสร้างแรงสนับสนุนเช่นกัน ดังนั้น การใช้วิธีในการดึงผู้ที่ต่อต้านรุนแรงที่สุดมาเป็นพวกดูจะเป็นไอเดียที่ดี
✔️ 9.แสดงให้เห็นถึงผลของการต่อต้าน
ย้าย หรือเพิกถอนบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ต่อต้านรุนแรง ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้และเกิดผลกระทบรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงโดยการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น
-พฤติกรรมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงได้แก่…
-การต่อต้านด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้
-การต่อต้านนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรได้แก่….
สุดท้ายคือการจัดทำรายงาน ใบตักเตือน หรือแบบบันทึก โดยการมีส่วนร่วมของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือฝ่ายกฎหมาย
✔️ 10. จัดหาค่าตอบแทนหรือแรงจูงใจพิเศษ
ใช้กับผู้ที่มีบทบาทหลักต่อความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น
-เพิ่มค่าตอบแทน หรือโบนัสพิเศษ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
-เสนอการเปลี่ยนตำแหน่ง หรือการให้การชื่นชมและการยอมรับในรูปแบบอื่น ๆ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

.
.
