เทคนิค 5 ประการ ผลักดัน Knowledge Sharing ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากเรามองเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร (Knowledge Sharing) เป็นแค่เพียงเรื่องที่ “ถ้ามีก็ดี…หรือถ้าไม่มีก็ได้…” ขอบอกไว้เลยว่าองค์กรของท่านคงต้องทำงานหนักขึ้นมากแน่ ๆ ทั้งในเชิงของพนักงานหรือตัวองค์กรเอง เนื่องจาก ผลของการที่องค์ความรู้ภายในองค์กรไม่ได้ถูกส่งต่ออย่างเป็นระบบ ไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ต้นทุนอันมหาศาลที่องค์กรต้องจ่าย… ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
อย่างแรก (1) กระบวนการ Onboarding สามารถกินเวลาไปยาวนานเกือบปีได้เลย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การ Onboarding ที่กำหนดไว้ตามโปรแกรม แต่เป็นระยะเวลาที่แท้จริง ที่กว่าพนักงานใหม่จะเข้าใจงานขององค์กรจริง ๆ จนไปต่อได้อย่างเต็มที่ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
อย่างที่สอง (2) Productivity น้อย จากรายงานของ McKinsey ระบุไว้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วพนักงานใช้เวลา 20% ของการทำงานไปกับการหาข้อมูล (Information) หรือถ้าเปรียบเทียบอีกอย่างนึงคือ องค์กรจ้างพนักงานมา 5 คน แต่มีแค่ 4 คนเท่านั้นที่กำลังทำงาน ในขณะที่อีกคนใช้เวลาไปกับการหาคำตอบที่ไม่ได้สร้างมูลค่าจริง ๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
อย่างที่สาม (3) องค์ความรู้นั้นจะอยู่และไปพร้อมกับพนักงานคนนั้น ๆ ในยุคที่พนักงานรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันแทบไม่มีใครอยู่กับองค์กรเดิมได้นานเกิน 5 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าหากกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้ไม่ได้ถูกถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งล้ำค่าเหล่านั้นจะเกิดขึ้นภายในองค์กรแต่ลาออกไปพร้อมกับพนักงาน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ดังนั้น เพื่อป้องกันการกักตุนความรู้ (Knowledge Hoarding) และส่งเสริมให้เกิดการส่งต่อองค์ความรู้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพในองค์กร มีสิ่งที่ชวนคำนึงถึง 5 ประการ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
===========⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
🔰 1. การทำให้ Knowledge Sharing เป็นเรื่องสำคัญ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
หลายครั้งที่เมื่อจบงานหนึ่ง แล้วพนักงานรู้สึกอยากที่จะถอดบทเรียน สรุปเป็น key learning แลกเปลี่ยนกับสมาชิกทีม แต่งานต่าง ๆ ที่มี KPI ชัด ๆ ที่ทั้งเร่งด่วน และสำคัญกว่า ผลักให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่เอาไว้ก่อนไปโดยปริยาย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แต่หากจะให้ Knowledge Sharing เป็นข้อบังคับที่ทุกคนต้องทำ ก็อาจจะไม่ใช่แรงจูงใจที่ดีนัก ในอีกทางหนึ่ง การให้ Incentive เล็ก ๆ แต่ชัดเจนอาจเป็นการจูงใจที่ดีกว่า ใช้การชื่นชมและให้รางวัล กับพนักงานคนที่แชร์ key learning จากงาน หรือ การแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมและสื่อสารกับพนักงานทุกคนว่าสิ่งเหล่านี้คือการกระทำที่คาดหวังและอยากให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
🔰 2. ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
หนึ่งในความท้าทายมาก ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้อแรก คือการผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยที่ไม่อยู่ในงานหลักหรือการวัดประเมินผลใด ๆ นั้น บทบาทของผู้นำหรือ Manager จึงเป็นกุญแจสำคัญมาก ๆ และต้องอาศัยการทำให้เห็นแบบแบบอย่างจากตัวผู้นำเอง (Lead by Example) เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้กำลังส่งมอบคุณค่าให้กับองค์กรอย่างไร วิธีการง่าย ๆ ที่สามารถเริ่มทำได้เลย คือ การสร้างพื้นฐานความรู้ขึ้นมาเป็นบทความไว้สำหรับกระบวนการที่อาจถูกทำซ้ำ ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีสมาชิกทีมถามถึงกระบวนการบางส่วนที่ยังไม่มีอยู่ในฐานความรู้ของทีม แทนที่จะตอบคำถามทันที ให้ถือโอกาสในการสร้างเป็นบทความที่เป็นฐานความรู้เพื่อตอบคำถามสมาชิกทีมแทน ซึ่งมันอาจจกินเวลาในช่วงแรก แต่มันจะช่วยประหยัดเวลาได้อย่างมหาศาลให้อนาคตข้างหน้าที่จะต้องตอบ⁣⁣⁣
คำถามในเรื่องเดียวกันอีกซ้ำ ๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
🔰 3. สร้างวัฒนธรรรมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งแต่วันแรก ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
เมื่อไรก็ตามที่เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กร สิ่งนั้นต้องชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเข้าทำงาน กระบวนการ Onboarding ต้องสื่อสารและสนับสนุนให้พนักงานใหม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมขององค์กรได้เป็นอย่างดี โดยที่นอกเหนือจากจะสื่อสารถึงค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรไปอย่างชัดเจนแล้ว การมีระบบ Buddy ให้กับพนักงานใหม่จะช่วยให้พนักงานใหม่รับรู้ และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ ๆ ได้เร็วและง่ายขึ้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
นอกจากนี้ การถามถึงมุมมองความคิดเห็นจากพนักงานใหม่เกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ Knowledge Sharing เช่นการถามพนักงานใหม่ถึง เครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ Onboard ชัดเจน และง่ายต่อการเข้าใจไหม มีอะไรที่ตกหล่นหรือแตกต่างไปจากพื้นฐานความเข้าใจเดิมของเขาหรือไม่ มีข้อมูลชิ้นไหนที่เขารู้สึกว่ามันล้าสมัยแล้วบ้างหรือเปล่า การถามสิ่งเหล่านี้กับพนักงานใหม่ที่ยังไม่ได้คุ้นเคยและรู้จักองค์กรดีนัก นอกจากจะทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ติดกับความเคยชินเดิมที่ทำกันอยู่แล้วภายในองค์กรแล้ว ยังเป็นการสื่อสารชั้นเลิศที่ส่งไปยังพนักงานใหม่ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่อง Knowledge Management มาก ๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
🔰 4. ลงทุนกับเครื่องมือที่ช่วยจัดการองค์ความรู้ในองค์กร ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
การเลือกใช้เครื่องมือที่เข้ากับรูปแบบและวิธีการขององค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดการองค์ความรู้ในองค์กรเป็นเรื่องง่าย การหาทางให้เครื่องมือที่ช่วยจัดการองค์ความรู้ สอดคล้องไปกับกระบวนการทำงานและเครื่องมือที่ทีมใช้งานกันอยู่แล้ว เพื่อช่วยให้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของโฟลการทำงาน มากกว่าแยกออกมาต่างหากเป็นอีกงานที่ต้องเสร็จ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
🔰 5. สร้างช่องทางและรูปแบบที่หลากหลาย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวิร์กชอปที่ให้ผู้เชี่ยวชาญมาแชร์ best practices อัพเดตเทรนด์ปัจจุบันของอุตสาหกรรม หรือสามารถเป็นรูปแบบเล็ก ๆ อย่างการแชร์บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคนิคหรือหลักการที่ทีมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การสร้างพื้นที่และช่องทางไว้ให้สำหรับสิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น การสร้างห้อง #Learning-Sharing ไว้ใน Slack เพื่อให้ทุกคนสามารถแชร์องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง, best practices ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม หรือ บทความที่น่าสนใจในช่องทางนี้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น การจัด Monthly Sharing Session เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงวิธีการที่เราใช้ในการทำงานที่ได้รับมอบหมายและผลลัพธ์เป็นอย่างไร มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างไรบ้างเพื่อสามารถใช้พัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยที่ควรเป็น session ที่พบเห็นหน้ากันได้สื่อสารกันจริง ๆ มากกว่าส่งเป็นรายงานหรือข้อความ โดยเฉพาะกับทีมที่ยังคงทำงานแบบ Remote เป็นหลัก ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣
———–⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣
Corporate culture⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣
Organizational culture⁣⁣⁣⁣
⁣⁣⁣.
.
>>>

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://kipwise.com/blog/how-to-encourage-knowledge-sharing-in-the-workplace

.
.
>>>


⁣⁣⁣

Share to
Related Posts:
Search

ORG Culture Canvas full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search