ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กจบใหม่ที่กำลังสมัครงานเป็นครั้งแรก เป็นคนทำงานคนหนึ่งที่กำลังคิดจะหางานใหม่ หรือเป็นใครก็ตามที่กำลังจะกดส่ง resume ไปให้กับ HR ขอให้อดใจรออีกสักนิดแล้วอ่านบทความนี้ให้จบก่อนนะครับ พวกเราทุกคน เมื่อพิจารณาดูแล้วหากไม่ใช่ cream ของมหาวิทยาลัยหรือองค์กร ทั้งยังไม่ได้มีทักษะบางอย่างที่ตลาดพร้อมเกทับข้อเสนอกันไปมาเพื่อทุ่มสุดตัวในการคว้าตัวมาให้ได้ พูดอีกนัยหนึ่งคือหากเราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มค่าเฉลี่ย (average) ทั่วไป ต้องเรียนตามตรงว่าเราทุกคนกำลังอยู่ในสมรภูมิการสมัครงานที่ดุเดือดเอาเรื่อง
หากลองเปิด LinkedIn เข้าไปดูประกาศรับสมัครงานที่ท่านตั้งค่าว่าสนใจเอาไว้ ก็จะพบว่าตำแหน่งส่วนมากนั้นมีผู้สมัครเข้ามากว่าครึ่งร้อยภายในระยะเวลาเพียง 1-2 วัน หากเป็นองค์กรที่มี employer branding ดีหน่อยก็ทะลุหลักร้อยเอาได้ง่าย ๆ คำถามคือ เราจะคว้าโอกาสเป็นหนึ่งเดียวหรือกลุ่มหยิบมือเดียวจากผู้ร่วมชะตากรรมหลายสิบหลายร้อยได้อย่างไร?
ซึ่งถ้าจะให้พูดกันถึงเทคนิคทุกขั้นตอน คงไม่สามารถจบในตอนเดียวได้แน่ เพราะมีทั้งเรื่องการเขียน resume การเตรียมตัวตอบคำถาม การแต่งตัว บุคลิกภาพและอื่น ๆ ดังนั้นในตอนนี้เราจะมาเจาะกันที่เรื่องเดียว คือ การเขียน cover letter ซึ่งเปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่จะช่วยสร้างโอกาสให้อย่างน้อย ๆ พาเราเข้าไปสู่รอบสัมภาษณ์ก่อน เมื่อคว้าโอกาสมาได้แล้วก็ค่อยว่ากันอีกที
เชื่อหรือไม่ว่าจากผู้สมัครหลายสิบหลายร้อยที่พร้อมใจกันกดสมัครงานและส่ง resume เข้าไปพร้อมกัน มีเพียงไม่ถึง 10% หรือลดฮวบเหลือหลักหน่วยเท่านั้นที่จะถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์จริง ๆ ดังนั้นโอกาสที่ว่านี้ หากได้มาก่อนอาจหมายถึงการแหย่ขาข้างนึงเข้าเส้นชัยเลยก็ได้ ผู้ที่มีประสบการณ์หว่าน resume เป็นร้อย ๆ แห่งก็อาจจะถึงบางอ้อเอาตอนนี้ ว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะเราไม่ได้เขียน cover letter นั่นเอง!
สาเหตุที่คนส่วนใหญ่มองข้าม cover letter ก็เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ HR ระบุเป็น requirement ว่าคือเอกสารจำเป็นที่ต้องส่ง โดยกว่า 90% ของประกาศรับสมัครงานระบุไว้เพียงแค่ resume เท่านั้น แต่สิ่งที่ HR เองบางครั้งก็อาจจะมองข้ามและไม่เห็นถึงความจำเป็นนี่แหละ เมื่อได้รับเข้าจริง ๆ กลับสร้าง wow moment และข้อได้เปรียบสำคัญให้กับเรา ทั้งแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ และความเอาจริงเอาจังในการอยากได้งาน สำคัญที่สุดคือเป็นการสร้างโอกาสขึ้นมาด้วยมือเราเองในการสาธยายถึงอนาคตที่เราและบริษัทอาจมีร่วมกัน โดยไม่ต้องรอ HR มอบโอกาสนั้นให้ ซึ่งเราอาจไม่มีวันได้รับมันก็เป็นได้
มาถึงตรงนี้ หากสิ่งที่กล่าวมาทำให้ท่านรู้สึกคันไม้คันมืออยากเขียน cover letter ดี ๆ ขึ้นมาสักฉบับแล้ว เรามาดูเทคนิคการเขียนที่ดีไปพร้อม ๆ กันเลยครับ
:::::::::::::
🔸 1. ศึกษาข้อมูลองค์กรและตำแหน่งที่สมัครให้ละเอียด
รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ไม่เพียงแต่ข้อมูลองค์กรที่หาได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ หากแต่รวมถึงมิติอื่น ๆ ที่อาจสร้างข้อได้เปรียบในการเขียน หรือเมื่อถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ เช่น ทวีตเตอร์ของ CEO พูดเกี่ยวกับเรื่องอะไร โปรไฟล์ LinkedIn ของพนักงานองค์กรแชร์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นต้น
🔸 2. มุ่งเน้นการฉายภาพอนาคต
จำให้ขึ้นใจว่า Resume ฉายภาพอดีตมาถึงปัจจุบัน ในขณะที่ cover letter ฉายภาพปัจจุบันและอนาคตที่เรา
และบริษัทจะมีร่วมกัน เอาจริง ๆ ก็คือการเขียนคำตอบที่เก็งว่าอาจจะถูกถามเมื่อได้สัมภาษณ์มาชิงเขียนก่อน
เลย เช่น มองอนาคตของตนเองกับบริษัทว่าอย่างไร มุ่งส่งมอบคุณค่าอะไร หรือมีจุดแข็งได้ที่สามารถเติมเต็ม
ให้องค์กรดีขึ้นได้
🔸 3. เปิดประโยคแรก ๆ ให้มัดใจ
เมื่อเขียนแนะนำตัวสั้น ๆ เสร็จก็ปล่อยหมัดฮุคเลยว่าทำไมเราถึงสนใจงานนี้ และเรามีข้อเสนออะไรมาวางบนโต๊ะให้องค์กรรับไว้ เหตุผลต่าง ๆ นานาเพื่อสาวความยืดค่อยตามมาทีหลัง
🔸 4. เขียนคุณค่าที่เราจะส่งมอบ
เมื่อศึกษาข้อมูลมากพอจนรู้จักองค์กรประมาณนึงแล้ว เราน่าจะพอเห็นช่องโหว่บางอย่างที่องค์กรพยายามจะอุดหรือก้าวข้ามไปให้ได้ ขอให้นำเสนอข้อดีของการเลือกเราที่จะเปรียบดั่งกาวตราช้างสมานรอยรั่วนี้ให้สนิท
🔸 5. แสดงออกถึงความกระตือรือร้น
แต่ละคนก็อาจมีวิธีในการแสดงออกซึ่งความกระหายที่จะได้งานต่างกันไป สำหรับผมเมื่อราว ๆ ปีที่แล้วเขียนข้อความส่วนหนึ่งใน cover letter ใจความว่า พร้อมลาออกจากหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่และมั่นคงที่สุดในประเทศไทยมาร่วมหัวจมท้ายกับสตาร์ทอัพแห่งนี้ แม้ออกจะดูบ้าบิ่นไปหน่อยและจบไม่สวยในท้ายที่สุด แต่ ณ ตอนนั้นก็แสดงออกถึงความอยากได้งานได้เป็นอย่างดี แล้วก็ได้ในที่สุด ดีกรีความแสดงออกอาจแปรผันไปตามลักษณะของบริษัทนั้น ๆ ด้วย
🔸 6. คุมโทนการเขียนให้เป็นมืออาชีพ
ในการเขียนจดหมาย ไม่ควรมุ่งเขียนเพื่อยกยอปอปั้นองค์กรมากเกินไปจนเลี่ยน การแสดงออกซึ่งความจริงใจให้ผู้อื่นสัมผัสได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
🔸 7. เขียนให้กระชับเข้าไว้
Cover letter ที่ดีควรมีความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 โดยทั่วไปก็คุมการเขียนให้จบใน 3-4 ย่อหน้าเท่านั้น มิเช่นนั้นก็อาจกลายเป็นกระดาษอีก 1 แผ่นที่ HR โยนทิ้ง
🔸 8. ขอความคิดเห็นจากคนรอบข้าง
มีสองประเด็นสำคัญที่เราควรถามเพื่อขอความคิดเห็นจากคนอื่น อย่างแรกคือ ผู้อ่านจับใจความสำคัญที่เราจะสื่อ ตลอดจนเห็นดีเห็นงามกับการร้อยเรียงเรื่องราวของเราหรือไม่ อย่างที่สองคือ มีความรู้สึกว่าอะไรล้นหรือขาดหรือไม่ เช่น นำเสนอข้อดีของตัวเองมากจนเกินไป ชนิดที่เรียกว่า oversell หรือดูมั่นใจจนเกินเหตุ เป็นต้น
:::::::::::::::
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ cover letter ว่าด้วยจดหมายหนึ่งฉบับที่ผู้สมัครงานส่วนใหญ่มองข้ามกันไปหมดแล้ว แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด เราหลาย ๆ คนอาจมี resume ที่ยอดเยี่ยมที่สุด ทุ่มเทเวลาให้กับการซ้อมตอบคำถามมากที่สุด แต่จะมีประโยชน์อะไรหากโอกาสนั้นไม่ตกมาถึงเลย ดังนั้นหากในวันนี้รู้สึกว่าเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีแล้ว ก็ขอให้พยายามเพิ่มขึ้นอีกนิด เขียน cover letter ขึ้นมาสักหนึ่งฉบับเพื่อส่งไปพร้อมกับ resume แล้วไม่แน่ว่านี่อาจเป็น game changer สำคัญที่เราต้องย้อนกลับมาขอบคุณตัวเองทีหลังก็เป็นได้
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.