คำว่า “วัฒนธรรมองค์กร” ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องทั่วไปๆ ที่อยู่รอบตัวเราเข้าถึงได้ง่าย… แต่ในความจริงแล้วกลับเป็นเรื่องที่เข้าถึงไม่ได้ง่ายสักเท่าไหร่… โดยเฉพาะในมิติของการวัดและประเมินผล ยิ่งในโลกปัจจุบันที่การสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุยงานผ่าน Line การอัพเดตข้อมูลผ่าน Slack หรือการแชร์สิ่งที่ประสบผลเจอในที่ทำงานผ่านสื่อโซเชียล บทความจาก Harvard Business Review ได้เล่าถึงทีมวิจัยที่ได้ลงไปศึกษา “ภาษาเขียน” ที่เหล่าพนักงานสื่อสารกันบนโลกออนไลน์ ผลการศึกษาบางส่วนพบว่า
– Cultural fit หรือ “คือ การเข้ากันได้กับวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ๆ” เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งที่ทำนายความสำเร็จ คือ อัตราการปรับตัวต่อวัฒนธรรมที่พนักงานสามารถทำได้
– วัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุด คือ วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความหลากหลาย เพราะนำพาไปสู่การได้นวัตกรรมใหม่ๆ หรือความก้าวหน้าขององค์กรได้
คำถามที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมองค์กรสามารถนำพาไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นได้อย่างไร
คำตอบคือ เพราะ ”วัฒนธรรม” คือสิ่งเกี่ยวข้องการคิด การพูด และการกระทำทั้งหมดของคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่คุณสื่อสารกับทีม วิธีที่พนักงานสื่อสารต่อกัน การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งการกำหนดเป้าหมาย – “วัฒนธรรมขององค์กรอยู่ในวิถีการทำงานประจำวันของคุณ” ฉะนั้น จึงไม่แปลกว่าทำไมวัฒนธรรมองค์กรจึงมีส่วนช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม การคงอยู่ และการแสดงศักยภาพของพนักงาน ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมองค์กรก็มีส่วนในการทำให้พนักงานเกิดสภาวะ Burn out เกิดความความกดดัน หรือการตัดสินใจลาออก
ดังนั้น จึงสำคัญมากที่ทุกองค์กรต้องวัดและประเมินผลวัฒนธรรมของตนเองอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งการวัดและประเมินผลสามารถช่วยให้
– ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของวัฒนธรรมองค์กรของคุณ
– เข้าใจอุปสรรคและโอกาส
– รู้ว่าควรโฟกัสที่จุดไหน อย่างไร และเมื่อไหร่
– ออกแบบวัฒนธรรมที่ครอบคลุมมากขึ้น
– ปรับปรุงการมีส่วนร่วม ประสิทธิภาพ และการรักษาพนักงานไว้
ควรใช้ตัวชี้วัด (Metrics) ตัวไหนวัดผลวัฒนธรรมองค์กร?
เป็นเรื่องยากที่จะบอกและกำหนดตัวชี้วัด (Metrics) ให้ตรงกับวัฒนธรรมที่คุณกำลังสร้างอยู่ แต่มันมีวิธีทางอ้อมที่เราสามารถทำได้เองเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจว่า “วัฒนธรรมองค์กรของคุณตอนนี้เป็นอย่างไร? ก่อนจะไปใช้เครื่องมือที่จริงจังมากขึ้นในการวัดและประเมินผล ดังนี้
1) จำนวนการอ้างถึงของพนักงาน (Number of employee referrals)
สิ่งที่บ่งชี้ว่าพนักงานของคุณกำลังส่งเสริมองค์กรอยู่หรือไม่? ให้เก็บข้อมูลจากจำนวนการแนะนำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นมาสมัครงานกับองค์กรของคุณ หากพนักงานมีแนวโน้มที่จะแนะนำมากกว่าไม่แนะนำ ก็อาจแปลได้ว่าพนักงานยังคงพึงพอใจกับประสบการณ์การทำงานประจำวันของพวกเขาอยู่
ดังนั้น ตัวชี้วัดข้อนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่า… คุณกำลังสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดึงดูด มีส่วนร่วม และรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้หรือไม่
2) การวัดความมีประสิทธิภาพ (Productivity metrics)
วัฒนธรรมองค์กรที่ดีย่อมสามารถกระตุ้นให้พนักงานทำงานให้ดีที่สุดได้ ซึ่งจะนำพาไปสู่การมีพนักงานที่มีประสิทธิผลสูง ในทางตรงกันข้ามหากพนักงานล้มเหลวในการทำงาน ไม่มีกระจิตกระใจที่จะสร้างสรรค์ผลงาน หรือกำลังใส่เกียร์วางในงานอยู่ ก็อาจแปลได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณกำลังขัดขวางประสิทธิภาพในตัวของพวกเขา
ดังนั้น การวัดผลข้อนี้จะช่วยให้คุณทราบว่า วัฒนธรรมองค์กรของคุณจูงใจให้พนักงานแสดงศักยภาพสูงสุดในตัวของพวกเขาได้หรือไม่
3) อัตราการลาออกของพนักงาน (Employee turnover rates)
เมื่อพนักงานที่เพิ่งเข้าใหม่หรือพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง (High potentials) พากันลาออกโดยสมัครใจในอัตราที่สูงเพิ่มขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึง Toxic culture ที่กำลังก่อตัวขึ้น เพราะ ประสบการณ์การทำงานในชีวิตประจำวันของพนักงานส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือลาออก
ดังนั้น อัตราการลาออกคือตัวชี้วัดที่สำคัญมากตัวหนึ่งที่สะท้อนไปถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่
4) ตัวชี้วัดการสื่อสาร (Communication metrics)
ตัวชี้วัดข้อนี้สามารถดูได้จาก – อัตราการเปิดอีเมล์ ใบตอบรับการอ่าน จำนวนการเข้าเยี่ยมชมหน้าเว็บหรือเพจขององค์กร รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการอยู่บนหน้าเว็บขององค์กรด้วย – นอกจากนั้นยังสามารถดูได้จากอัตราการให้ฟีดแบค การนำเสนอความคิดเห็น หรือการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกไอเดีย
ตัวชี้วัดเหล่านี้ช่วยบอกได้ดีถึงสุขภาพของวัฒนธรรมองค์กรของคุณ หากอัตราเหล่านี้ต่ำอาจแสดงว่าพนักงานไม่มีส่วนร่วมกับองค์กรอย่างที่ควรจะเป็น
:::::::::::::::::::
บทสรุป:
สำคัญมากที่คุณต้องรู้และมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของวัฒนธรรมองค์กรของคุณ เพราะมันจะช่วยให้คุณเข้าใจอุปสรรค รวมถึงจุดที่ควรจะโฟกัส เพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วม ประสิทธิภาพ และการรักษาพนักงานไว้ ซึ่งวิธีเบื้องต้นที่สามารถเริ่มต้นทำได้เลยคือ 1) จำนวนการอ้างถึงของพนักงาน 2) การวัดความมีประสิทธิภาพ 3) อัตราการลาออกของพนักงาน 4) ตัวชี้วัดการสื่อสาร
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.