Bolt คือ สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นสัญชาติยุโรปที่ทำธุรกิจ fulfillment ด้าน online checkout OS ให้กับบรรดาธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลก โดยธุรกิจมุ่งยกระดับประสบการณ์การ checkout ให้กับแพลตฟอร์ร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ลองคิดภาพง่าย ๆ ว่าเมื่อเราเข้าไปซื้อของที่แพลตฟอร์ม A เราก็ต้องกรอกข้อมูลการจัดส่งและชำระเงินทีนึง เมื่อเราเข้าแพลตฟอร์ม B ก็อีกทีนึง และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ กับแพลตฟอร์ม C D หรือ E
สิ่งนี้กลับกลายเป็น pain point ของลูกค้าออนไลน์มากกว่า 70% ที่กดปิดหน้าต่างและล้มเลิกความตั้งใจในการซื้อสินค้าเพียงเพราะรู้สึกว่าขี้เกียจหรือยุ่งยาก ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านล้วนเคยทำแบบนี้ คือ กดสั่งของใส่ตระกร้าแล้ว กำลังกรอกข้อมูลจัดส่งและชำระเงินอยู่ดี ๆ แล้วก็ปิดแอพหรือเว็บไซต์นั้นไปดื้อ ๆ เลย
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือนทองคำของ Bolt และจุดเริ่มต้นในการคิดค้นระบบ One-Click checkout ขึ้นมาและดึงดูดร้านค้าชั้นนำเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศน์ของตนเอง ลูกค้าที่ใช้บริการร้านค้าในระบบนิเวศน์นี้ก็จะมีประสบการณ์ One-Click purchase แบบเดียวกัน และ solution สู่ปัญหาที่หลาย ๆ คนอาจมองข้ามนี้ก็ได้ผลักดัน Bolt สู่การเป็นยูนิคอร์นในที่สุด
——————–
แต่สิ่งที่ทำให้ Bolt เป็นที่รู้จักในวงกว้างมาก ๆ นอกเหนือจาก tech solution คือวัฒนธรรมองค์กรอันโดดเด่นที่เรียกว่า Bolt’s Conscious Culture ที่ดึงดูดหัวกะทิจากแขนงต่าง ๆ เข้าสู่บริษัทเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เราจะยังไม่ได้มาเจาะกันที่วัฒนธรรมองค์กรของ Bolt ในภาพใหญ่ หากแต่จะมาพูดถึงผลผลิตจากวัฒนธรรมองค์กรแห่งนี้ต่างหาก ที่ผลักดันให้เกิดการประกาศลดวันทำงานของพนักงานเป็นการถาวรได้ และกลายเป็น talk of the town เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ Bolt ทำ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสปฎิวัติรูปแบบการทำงานครั้งใหม่ อย่างที่ Henry Ford เคยทำได้เมื่อเกือบศตวรรษที่แล้วได้เลย
ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม 2021 เป็นช่วงเวลาสตาร์ทอัพแห่งนี้ออกมาประกาศว่าทดลองให้พนักงานหยุดวันศุกร์เพิ่มอีก 1 วัน เป็นเวลาสามเดือน ซึ่งผลตอบรับจากการทดลองดังกล่าวออกมาดีมาก ๆ เพราะ
94% ของพนักงานทั่วไปเห็นด้วยที่บริษัทจะผลักดันให้เป็นนโยบายถาวร
91% ของพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปเห็นด้วยและยินดีที่จะลดวันทำงานเหลือ 4 วัน แม้ว่าตำแหน่งระดับนี้จะมีความท้าทายในการบริหารจัดการทั้งทีมและภาพรวมของโปรเจ็ค ตลอดจน KPI ต่าง ๆ
86% ของพนักงานรู้สึกว่าตนเองใช้เวลา 4 วันทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (ทั้งนี้ พนักงานบางแผนกเช่น ฝ่ายบริการลูกค้า อาจไม่ได้หยุดวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เสมอไป แต่จะมีการจัดตารางทำงานเพื่อให้ได้ทำงานเพียงสี่วันต่อสัปดาห์เท่าแผนกอื่น ๆ)
———————–
Ryan Breslow ซึ่งเป็น Founder และ CEO ของ Bolt ถึงกับพูดออกมาว่า “I couldn’t imagine running a company any other way” ความตั้งใจของพนักงานอยู่ในระดับ “laser focus” และด้วย laser focus นี้เอง ทำให้ทุกคนพุ่งสมาธิไปที่สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ตัดการประชุมและ presentation ที่ไม่จำเป็นออกไปได้เยอะมาก ๆ ซึ่งหากการทำงานแบบเดิมยังถูกรบกวนด้วยสิ่งไม่จำเป็นเหล่านี้ มันก็ยากมาก ๆ ที่จะมุ่งไปที่หัวใจสำคัญของงานจริง ๆ
เขายังกล่าวด้วยความมั่นใจว่าทุก ๆ บริษัทจะต้องเจริญรอยตามโมเดลนี้อย่างแน่นอน โดยยกตัวเลข 4 และ 1 เป็น magic number คือเปรียบเปรยการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์กับเหตุการณ์ในตำนานที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1954 ที่ Roger Bannister ทำสถิติเป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ได้ภายในสี่นาที
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าการวิ่งพิชิตหนึ่งไมล์ภายในสี่นาทีมันน่าประหลาดใจตรงไหน แต่หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 67 ปีก่อน ที่วิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่ถูกพัฒนามาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ ถ้ามีใครบอกว่ามนุษย์สามารถพิชิตระยะทางหนึ่งไมล์ได้ภายในเวลาสี่นาที ใคร ๆ ก็คงต้องตอบกลับไปว่าคนพูดต้องบ้าไปแล้วแน่ ๆ แต่หลังเหตุการณ์ของ Roger ก็มีนักวิ่งอีกนับร้อยคนเจริญรอยตามกันเป็นว่าเล่น
ฉันใดฉันนั้น ตัดมาที่โลกการทำงานทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็จะว่าคุณบ้าหากต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน ลดวันทำงานของพนักงานลงเหลือแค่สี่วัน คือ มันฟังดูเป็นการกระทำที่สวนทางกับผลลัพธ์ที่บริษัทต้องการบรรลุ แต่ Ryan ก็ได้เชื่อและลงมือทำไปแล้ว
————————-
ก่อนหน้าโครงการ pilot test นี้จะถูกริเริ่มขึ้น Bolt มีพนักงานประจำราว 280 คน แต่เมื่อโครงการได้เริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ บริษัทจ้างพนักงานเพิ่มอีกกว่า 50% เป็น 550 คน โดยมีเหตุผลหลักคือให้เกิดการหมุนเวียนกะระหว่างพนักงานในบางแผนกเป็นไปได้จริง
HR ของ Bolt กล่าวว่าบริษัทมีแผนที่จะขยายทีมตามฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว การปฎิวัติวันทำงานใหม่นี้แค่เร่งให้มันเกิดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง Ryan Breslow ขยายความเพิ่มเติมว่าการประกาศลดวันทำงานเหลือเพียงสี่วันไม่ได้หมายความว่าคุณห้ามแตะคอมพิวเตอร์หรือห้ามทำงานในวันหยุด ตัวเลขสี่วันนี้คือ “กรอบเวลา” ที่ให้พนักงานทำงานร่วมกัน และเคารพวันหยุดของผู้อื่นในวันหยุดเท่านั้นเอง
เขาเชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมองค์กรของ Bolt ที่หล่อหลอมให้พนักงานทุกคนคิดและลงมือทำเหมือนผู้ประกอบการ ทำให้เขาไม่ต้องพูดอะไรให้มากความ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนว่าจะจัดการกับสามวันที่เหลือในสัปดาห์อย่างไร หน้าที่ของบริษัทคือจำกัดเวลาที่ต้องใช้ไปกับการประชุมให้สั้นลง และคุณไปคิดต่อเอาเองว่าอยากใช้เวลาที่เหลือทำอะไร คุณอยากทำงานก็ได้ อยากพัฒนาตัวเองก็ได้ หรืออยากใช้เวลากับครอบครัวก็ได้ทั้งนั้น
สุดท้ายนี้ แม้โมเดลการทำงานของ Bolt จะสร้างแรงบันดาลใจและชวนฝันให้อยากทำตาม แต่ก็ไม่ใช่ one size fits all ที่ใครนำไปใช้ก็จะสำเร็จเหมือนกันไปทั้งหมด โดยเราจะสังเกตได้ว่าสิ่งที่เอื้อให้สตาร์ทอัพแห่งนี้กล้าลงมือทำ คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องในแง่ของฐานลูกค้าและรายได้ของบริษัท ประกอบกับวัฒนธรรมองค์กรที่สนใจแต่ผลลัพธ์หรือ productivity ที่เกิดขึ้นมากกว่าวิธีการและเวลาที่ใช้ในการทำงาน ตลอดจนความมั่นใจของ CEO ที่มีต่อพนักงานทุกคนว่าเป็นกลุ่มที่มี entrepeuneurial mindset และ accountability สูง
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
>>>
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.cnbc.com/2022/01/05/the-4-day-workweek-becomes-permanent-for-tech-company-bolt.html
