วันนี้คุณยิ้มหรือหัวเราะในที่ทำงานแล้วหรือยัง? หรือหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบนินทา? หรือเป็นความรู้สึกสำเร็จที่สามารถปิดงานของลูกค้าระดับวีไอพีได้? ที่เกริ่นมานั้นกำลังจะชี้ให้คุณผู้อ่านเห็น “อารมณ์ความรู้สึก” ของเราสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาและสถานที่ ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำงาน… ก่อนที่จะเริ่มต้นสร้าง “วัฒนธรรมทางอารมณ์ในองค์กร (Emotional Cultures)” องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า… อารมณ์แบบใดที่แพร่หลายองค์กร และอารมณ์นั้นๆ ส่งผลต่อพนักงานอย่างไร?
อารมณ์เชิงบวกในที่ทำงาน
อารมณ์เชิงบวกในที่ทำงานไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการมองโลกในแง่ดีหรือการมีความหวังแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสงบ สบาย ความกระตือรือร้น มีพลังงาน ความตื่นเต้น มีความสุข สนุกสนาน ผ่อนคลาย และความพึงพอใจด้วย ผลการวิจัยพบว่าอารมณ์เชิงบวก 3 อันดับแรกที่พนักงานรู้สึกได้ในที่ทำงาน คือ
- ความสบายใจ (Comfortable)
- ความกระตือรือร้น (Enthusiastic)
- มีความสุข (Happy) / พึงพอใจ (Satisfied)
อารมณ์เชิงลบในที่ทำงาน
มีอารมณ์เชิงลบมากมายที่อาจเกิดขึ้นได้ในที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น ความรู้สึกรำคาญ วิตกกังวล เบื่อ ไม่พอใจ หงุดหงิด มืดมน เศร้าหมอง เครียด เหนื่อย ไม่สบายใจ ไม่มีความสุข อารมณ์เสีย และวิตกกังวล ผลการวิจัยพบว่าอารมณ์เชิงลบ 3 อันดับแรกที่พนักงานรู้สึกได้ในที่ทำงาน
- เครียด (Stressed) / วิตกกังวล (Anxious)
- หงุดหงิด (Frustrated) / รำคาญใจ (Annoyed)
- ความไม่สบายใจ(Uncomfortable)
การศึกษายังพบอีกว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้ “อารมณ์ในที่ทำงาน” แตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร
พนักงาน —มักเกิดอารมณ์เชิงลบคือ หงุดหงิดเมื่อขาดการสนับสนุน และมีอารมณ์เชิงบวกคือ ความพึงพอใจเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
ผู้จัดการ —เกิดความรู้สึกเครียดจากการทำงานแบบ 1:1 และมักรู้สึกสบายใจกับความก้าวหน้าของทีม
ผู้นำ —รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการคาดการณ์ธุรกิจของตนเอง และกระตือรือร้นที่จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยเป้าหมายใหม่
ในฐานะผู้จัดการและผู้นำขององค์กรจึงสำคัญมาก ที่ต้องเรียนรู้วิธีรับรู้และตอบสนองอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับพนักงานได้อย่างเหมาะสม บทความ Quantum Workplace ได้แชร์เทคนิค 4 ข้อ ในการเริ่มสร้างวัฒนธรรมทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งในที่ทำงาน (Emotional Cultures):
1) อนุญาตให้ผิดได้
“ข้อผิดพลาด” ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันง่ายๆ แต่ก็ไม่ถือเป็นเหตุที่ต้องดุว่าด่าทอหรือลงโทษพนักงานให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ เกิดความอับอาย และสร้างความเกลียดชังได้ ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการพยายามลดอารมณ์เชิงลบของตนเองก่อน จากนั้นชวนพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างแผนปรับปรุงประสิทธิภาพ กำหนดความคาดหวังและเป้าหมายที่ชัดเจนที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน
2) สร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ
การบอกให้พนักงานรู้ว่าพวกเขาสามารถแบ่งปันความรู้สึกของตนเองได้นั้น อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความรู้สึกไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้นำหรือผู้จัดการจำเป็นต้องรู้สึกเต็มใจที่จะเป็นตัวอย่าง เป็น Role Model ให้พนักงานรับรู้ได้ถึงความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ ตัวอย่างเช่น การสื่อสารอย่างโปร่งใส การแชร์ความรู้สึกได้อย่างไม่ถูกตัดสิน เป็นต้น
3) แบ่งเวลาเพื่อเชื่อมต่อกับทีมงาน
เวลาพนักงานมีความรู้สึกกังวลหรือต้องการขอคำปรึกษา แต่หันไปดูตารางเวลาของผู้จัดการก็แน่นจนไม่สามารถพูดคุยกันได้ สิ่งนี้อาจสร้างความรู้สึกขาดการได้รับการซัพพอร์ตให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ ดังนั้น การกำหนดเวลาในแต่ละสัปดาห์/เดือนเพื่อเชื่อมต่อกับทีมงาน เปิดโอกาสให้พนักงานได้ถามคำถาม ได้อัปเดตข้อมูล แจ้งข้อกังวล และแสดงความคิดเห็น จะช่วยเสริมความรู้สึกมั่นใจและสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับพนักงานได้
4) ฟังให้มากกว่าพูด
หลายครั้งที่พนักงานมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น เขาอาจไม่ได้มองหาวิธีแก้ปัญหาแต่ต้องการที่จะเล่าหรือปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่กักขังข้างในไว้เท่านั้น ดังนั้น “การรับฟัง” อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยพนักงานของคุณ นอกจากการรับฟังแล้วก็ควรพยายามทำความเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น หากพวกเขาไม่ต้องการพูดหรือบอกเล่าก็ควรให้เคารพและอย่ากดดัน แต่หากพวกเขาต้องการพูดก็ให้หาพื้นที่เงียบๆ แล้วฟัง
บทสรุป —พนักงานของคุณเป็นเพียงมนุษย์ และมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตทางอารมณ์ ดังนั้น การทำความเข้าใจและการจัดการอารมณ์ของพนักงานในที่ทำงานเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้าง “วัฒนธรรมทางอารมณ์ในองค์กร (Emotional Cultures)”
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#organizationalculture
.
.