หากคุณอยู่ในสถานะผู้นำ หรือหัวหน้าที่ต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับทีมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ emotional connection ศัพท์ทางจิตวิทยาที่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างคนสองคนที่เชื่อมโยงหรือสื่อถึงกันได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนหนังสือ The Inspiring Leader ที่ทำการสำรวจบรรดาผู้นำองค์กรกว่า 25,000 คน พบว่าผู้นำที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอยากเจริญรอยตามหรือยึดถือเป็นแบบอย่าง มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาเหล่านี้มีความสามารถในการส่งต่ออารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกไปสู่พนักงานได้กันทั้งสิ้น
Emotional connection ไม่ได้หมายถึงการแสดงทุกอารมณ์ความรู้สึกออกมาจนล้น หรือการเปิดเผยทุกเรื่องราวส่วนตัวให้ผู้อื่นทราบเพื่อจะได้เข้าใจเรา หากแต่หมายถึงศิลปะการเข้าหาผู้อื่นทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องอย่างเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง อย่างคนปกติทั่วไปจะคุยกัน มากกว่าการใส่หัวโขนแล้วเอาเรื่องงานนำหน้าเข้าว่าอย่างเดียวเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้รู้จักแต่งาน งาน งาน
การเชื่อมโยงกันและกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกนั้นสำคัญฉะไหน ย้อนไปนับพันปีก่อน อริสโตเติ้ล นักปรัชญากรีกโบราณที่มีอิทธิผลสูงสุดคนหนึ่งของโลก ได้บัญญัติสามเสาหลักแห่งศิลปะในการสื่อสารเพื่อจูงใจคนเอาไว้ ได้แก่ Ethos, Pathos, และ Logos โดยหากเรามุ่งเน้นไปที่เสาหลักแห่งการส่งสารสู่ผู้รับฟัง เราก็จะพูดถึง Pathos เพียงอย่างเดียว ซึ่งว่าด้วยการทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมต่อเนื้อหา ไม่ใช่แค่เข้าใจ แต่เกิดความรู้สึกอินไปกับสิ่งที่เราพูดอย่างแรงกล้า จนเกิดวลีอมตะว่า logic makes us think, but emotions make us act คือตรรกะทฤษฎีก็ทำได้แค่เพียงให้เราตระหนัก แต่อารมณ์ความรู้สึกคือชนวนให้เราลงมือทำ
และหากท่านอยากเป็นผู้นำที่ไม่ใช่แค่เก่งงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทักษะเป็นเลิศในการบริหารคน เป็นผู้นำแห่งแรงบันดาลใจที่ใคร ๆ ใคร่ยกท่านเป็นแบบอย่าง นี่คือ 3 เคล็ดลับที่จะช่วยให้ท่านได้ฝึกฝนทักษะการสร้างแรงกระตุ้นให้กับทีมเพื่อผลการทำงานที่ดีขึ้น
:::::::::::::::::::::::
1. สร้างกระแสลมแห่งแรงบันดาลใจ
เครื่องบิน บินได้เร็วขึ้นด้วยลมส่งท้าย (tailwind) ฉันใด เราทุกคนก็รู้สึกเหมือนมีลมส่งท้ายเมื่อเกิดความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าฉันนั้น ในฐานะผู้นำ เราสามารถสร้างจุดกำเนิดลมนี้ให้กับทีมของเราได้ด้วยการเล่าว่าแรงบันดาลใจ (passion) ของเราที่อยากทำโปรเจคนี้ให้สำเร็จคืออะไร
ซึ่งแน่นอนว่าก่อนจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้ผู้อื่นฟังได้ เราก็ต้องมีคำตอบในใจที่ชัดเจนก่อน ว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร เมื่อภาพความสำเร็จคมชัดและเป็นเหตุเป็นผล ไม่ว่าการบรรลุซึ่งผลลัพธ์จะยากง่ายสักเพียงใด อย่างน้อย ๆ เราก็ได้สร้างกระแสลมที่จะช่วยผลักดันทีมของเราไปข้างหน้าตลอดเวลาขึ้นมาได้แล้ว
2. จำแนกแจกแจงเหตุผลที่อยู่ภายใต้อารมณ์โมโห
อารมณ์หนึ่งที่ผู้นำทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ อารมณ์โมโห ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ บ่อยครั้ง ด้วยความโกรธนี้ ที่ทำให้เราสามารถผลักดันให้งาน ๆ หนึ่งจนสำเร็จได้ หรือเป็นพลังให้เราก้าวข้ามและเอาชนะความไม่ชัดเจนบางอย่างเพื่อหาข้อสรุปได้ ความโมโหจึงเป็นอารมณ์ปกติที่ให้ได้ทั้งคุณและโทษ
หากเราแสดงความโมโหออกมาผ่านการขึ้นเสียงอย่างเกรี้ยวกราด ด่าทอผู้อื่นแบบสาดเสียเทเสีย ผู้อื่นก็คงเพียงฟังหูซ้ายทะลุหูขวา หรือหาข้ออ้างต่าง ๆ นานาเพื่อแก้ต่างให้กับตนเอง นี่ถือเป็นโทษ
ในฐานะผู้นำ วิธีการแสดงออกซึ่งอารมณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด คือ การอธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเจ้าอารมณ์ร้ายนี้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ในโลกธุรกิจ ความโมโหมักเป็นเพียงฉากหน้าของความวิตกกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ หรืออาจเป็นฉากบังหน้าของความกลัวว่าหากเกิดผลลัพธ์แย่ ๆ ขึ้นจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
เคล็ดลับสำคัญจึงอยู่ตรงที่ เจ้าบรรดาอารมณ์ที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอารมณ์โกรธนี้เองที่จะช่วยให้เราสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังอาจช่วยปรับความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
ดังนั้นในครั้งถัดไปที่เราจะรู้สึกโมโหอะไรสักอย่างและเริ่มกล่าวโทษใครสักคนขึ้นมา ก็ขอให้หายใจเข้าลึก ๆ สัก 2-3 ครั้งแล้วถามตัวเองก่อนว่า เรากำลังรู้สึกโมโหจริง ๆ เหรอ? หรือแท้จริงแล้วเรากำลังรู้สึกอะไรกันแน่? เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ให้ถามตัวเองต่อเป็นครั้งสุดท้ายว่า ในฐานะผู้นำ เราจะแสดงออกซึ่งความไม่พึงพอใจนี้ออกมาอย่างไรดี ที่จะไม่ก่อให้เกิดความบาดหมาง แต่ในทางกลับกัน กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองเชิงบวกในการแก้ปัญหา?
3.สานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกทีมด้วยการ coaching
การพัฒนาคนอื่นให้สักวันหนึ่งเขาเก่งเหมือนเราถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่สุดที่ผู้นำทุกคนต้องมี หากไปขอให้บรรดาพนักงานเล่าให้ฟังเกี่ยวกับหัวหน้าที่ดีที่สุดในชีวิตที่พวกเขาเคยทำงานด้วย ร้อยทั้งร้อยจะต้องพูดถึงว่าหัวหน้าเหล่านั้นเคยดูแลเขาได้ดีมากอย่างไร และทำให้เขาเติบโตขึ้นมากขนาดไหน
การสร้าง emotional connection ผ่านการสอนงานจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายมากที่สุด ผู้นำที่ทุ่มเทเวลาเพื่อพัฒนาคน ๆ หนึ่งขึ้นมาจนเห็นเด็กคนนั้นประสบความสำเร็จอยู่ตรงหน้า กล่าวตรงกันว่าวินาทีนั้นพวกเรารู้สึกเหมือนมีพลังวิเศษ รู้สึกเป็นคนสำคัญ และสำคัญที่สุดคือรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและคำตอบต่อคำถามที่ว่าฉันเกิดมาทำไม ดูจะชัดเจนขึ้น
พนักงานที่มี mentor หรือ coach ดี ๆ คอยสนับสนุนกล่าวว่า การได้เห็นหัวหน้าสละเวลาที่มีอยู่อันน้อยนิดลงมาปั้นให้เขาเก่งขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า และหัวหน้าคงจะรู้สึกมั่นใจในตัวเขาไม่มากก็น้อยถึงได้ทำแบบนี้ ซึ่งทำให้พนักงานเหล่านี้เกิดความรู้สึกยึดโยงต่องานที่ทำ ช่วยสร้างความมั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด
::::::::::::::::::::::::::
สุดท้ายนี้ เราหลายคนอาจจะเป็นผู้นำที่อยู่ท่ามกลางโลกอันแสนวุ่นวายและภาระงานที่หนักอึ้ง จนเหมือนถูกดูดไปอยู่ใจกลางของพายุทอร์นาโดที่ทุกอย่างถูกเหวี่ยงไปด้วยอัตราเร่งขั้นสุด จนทำให้เราลืมตระหนักไปว่าหน้าที่หลักของเราในฐานะหัวหน้าคนคือการผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวัง “ผ่านการลงมือทำของคนอื่น” ทักษะการเชื่อมโยงกับผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณสมบัตินี้ไม่ได้ต้องการเวลาของที่มากขึ้นในการขัดเกลาหรือฝึกฝนแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการลองเข้าหาผู้อื่นด้วยวิธีการข้างต้นที่ต่างออกไปสักเล็กน้อยเท่านั้น ยิ่งผู้นำมีความสามารถในการสร้าง emotional connection มากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ของงานก็สูงมากขึ้นเท่านั้น
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.