กระแสดราม่าภายในองค์กร ความขัดแย้งระหว่างทีม หรือการตัดสินลาออกจากองค์กร สาเหตุเบื้องหลังปัญหาเหล่านี้… อาจเป็นผลมาจากการมีพนักงาน 6 ประเภทนี้อยู่ในองค์กร
ข้อมูลจากการศึกษาของ Comparably, Inc. เว็บไซต์สมัครงานยักษ์ใหญ่ของโลกได้ทำการสำรวจพนักงานมากกว่า 36,000 คน ในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ – นักวิจัยพบสถิติที่น่าทึ่งคือ หนึ่งในสามของพนักงานที่ทำแบบสำรวจกล่าวว่า “เพื่อนร่วมงานทำให้พวกเขาอยากลาออกจากงาน” สอดคล้องกับรายงานจาก Cornerstone OnDemand พบว่า “พนักงาน(ชั้นดี) มากกว่า 54% ตัดสินใจลาออกจากองค์กร เมื่อพวกเขาทำงานกับ Toxic Employee”
ข้อแตกต่างระหว่าง Toxic Employees กับ Difficult Employees
Merriam-webster ให้ความหมายของคำว่า Toxic คือ วัตถุมีพิษที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น Toxic Employees คือ พนักงานที่มีพฤติกรรม ความคิด คำพูด และนิสัยที่แสดงออกในเชิงลบ ที่ไม่เพียงแต่ทำลายบรรยากาศในองค์กรแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายพฤติกรรมเชิงลบให้แก่ผู้อื่นด้วย / ในขณะที่ Difficult Employees คือ ที่พนักงานที่ยากในการบริหารจัดการ อาจต้องการโค้ชชิ่ง การให้คำปรึกษาใกล้ชิด หรือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้
พนักงาน 6 ประเภท ที่บริหารจัดการยาก
1.คนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
พนักงานกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมไม่แคร์ความรู้สึกของผู้ใด ไม่มีความรู้สึกผิดในสิ่งที่ตนเองได้กระทำ นินทาเพื่อนร่วมงานลับหลัง หรือมักโพสต่อว่าสมาชิกในทีมผ่านสื่อโซเชียลอยู่เสมอๆ
ข้อแนะนำ – หากเราอยู่ในฐานะผู้จัดการหรือหัวหน้าทีม “ควรเข้าชาร์จปัญหาทันที” เมื่อเห็นพฤติกรรมนี้ อย่างปล่อยผ่านและหวังให้เรื่องเงียบไปเอง ดังนั้น การคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และการยึดมั่นกฎระเบียบขององค์กรคือวิธีรับมือที่ดีที่สุด
2. คนที่มักหายตัวในเวลาที่ทีมต้องการ
พนักงานกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมเข้างานสาย ออกก่อนเวลา และมักลาป่วย
ข้อแนะนำ – ก่อนกล่าวโทษหรือให้ข้อสรุปใดๆ กับคนกลุ่มนี้ ตรวจสอบสิทธิ์ขาด ลา มาสายให้ดีก่อน หากเขายังมีสิทธิ์เหล่านั้นก็ควรจับตาดูใกล้ชิด แต่หากไม่มีสิทธิ์ควรให้กฏระเบียบข้อองค์กรมาเป็นตัวควบคุมแทน
3. คนที่มักพาผู้อื่นเสียสมาธิ
พนักงานกลุ่มนี้อาจเป็นพวกดาวเด่นขององค์กรหรือผู้ที่มักสร้างเสียงหัวเราะอยู่เสมอ พฤติกรรมของพวกเขาอาจไม่ได้มีพิษมีภัยร้ายแรง แต่พวกเขาอาจทำลายประสิทธิภาพด้วยการชวนทุกคนมาร่วมสนุก ซึ่งจะส่งผลให้ความคืบหน้าของงานช้าลง และทำให้ทีมของคุณทำงานไม่ทันกำหนดเวลา
ข้อแนะนำ – ควรมีกรอบเวลาของงานที่ชัดเจนและคอยย้ำเตือนทีมอยู่เสมอ
4. คนที่มักตำหนิผู้อื่น
พนักงานกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรม ที่คอยบอกว่า “ฉันคือเหยื่อที่ถูกผู้อื่นคอยทำร้าย” เขาไม่เคยเป็นฝ่ายผิด มักจะโทษคนอื่นเสมอ
ข้อแนะนำ – Accountability is key คือ รับผิดชอบต่อผลการการกระทำของตัวเอง ดังนั้น หัวหน้าควรคอยบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตเห็น เพื่อนำมาโค้ชชิ่งและแสดงให้เห็นแพทเทิร์นที่มาของปัญหา เพื่อให้เขามีส่วนรวมรับผิดชอบหากเกิดขึ้นในอนาคต
5. คนที่ไม่เคยพูดอะไรในแง่บวกเลย
พนักงานกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมวิพากษณ์วิจารณ์ในแง่ลบอยู่เสมอ แต่เวลาที่ถามหาข้อแนะนำในการแก้ไขมักไม่มี แต่กลับมีคำพูดเชิงลบมาตอกย้ำปัญหาแทน พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้คนอื่นในทีมไม่กล้าเสนอมุมมองหรือไอเดียไปด้วย
ข้อแนะนำ – หากเป็นในที่ประชุม หัวหน้าทีมอาจใช้เทคนิคหมวก 6 ใบ มาเป็นตัวกรอบความคิดในการพูดคุยหรือแชร์เรื่องราวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ เช่น “ตอนนี้ของให้ทุกคนสวมหมวกสีเหลือง เราจะมาช่วยกันหาข้อดีหรือด้านบวกของประเด็นนี้ร่วมกัน”
6. คนที่มักแย่งซีนผู้อื่น
คำว่า “ทีม” คือการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย พนักงานที่มักแย่งซีนผู้อื่นมักมีพฤติกรรมยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจ และมักทำให้ตัวเองดูโดนเด่นที่สุด
ข้อแนะนำ – กำหนดบทบาทและวางข้อตกลงให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเลย และควรมีการบันทึกการพูดคุยเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย และคอยอัพเดตติดตามในภาพรวม
บทสรุป – พนักงานกลุ่ม Difficult Employees อาจไม่ได้รุนแรงเท่าพนักงานกลุ่ม Toxic Employees เขาเป็นเพียงกลุ่มพนักงานที่ยากในการบริหารจัดการ (มากกว่าปกติเท่านั้น) ดังนั้น หากในทีมของเรามีพนักงานเหล่านี้อยู่ การโค้ชชิ่ง การให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด หรือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตให้พนักงานได้มีโอกาสทำความเข้าใจตนเองเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ อาจเป็นกลยุทธ์ที่ควรหยิบขึ้นมาพิจารณา
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.