กระแสเรื่องช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ดูจะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คำถามที่น่าสนใจคือ “ทำไมคนต่างวัยถึงคิดต่างกัน? บทสัมภาษณ์ของคุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ช่องว่างระหว่างวัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของอายุเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของ Pre-perception ของคนนั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหนต่างหาก” (Pre-perception คือ การใช้ชุดความคิดความเชื่อจากบริบทเดิมของตนเองมาตัดสินหรือมองโลกในปัจจุบัน)
เมื่อมองในแง่ขององค์กรการทำงาน คนรุ่นใหม่อย่าง GenZ ก็ก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงานในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ก็มาพร้อมกับจำนวนเสียงบ่นและความไม่เข้าใจเกี่ยวกับคนเจนนี้ที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย เช่น “เด็กเจนนี้สนใจแต่ตัวเอง…” “อะไรๆ ก็จะเอาแต่เงิน…” “พูดเตือนอะไรก็ไม่สนใจฟัง…” เป็นต้น
คำถามคือ “มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม… หรือมันเป็นเพียง Pre-perception ของคนผู้นั้น เท่านั้น…!?
::::::::::::::
บทความจาก Fast Company ได้สรุปผลการศึกษากลุ่มคน GenZ อายุระหว่าง 18-24 ปี จำนวน 500 คน ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาสิ่งที่คน GenZ ต้องการอย่างแท้จริง และวิธีที่องค์กรสามารถทำเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ ที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้ …ข้อสรุปแรกที่ต้องเคลียร์ความเข้าใจ คือ “คน GenZ มีความคาดหวังที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก และพวกเขาไม่เหมือนคน GenY!” ซึ่งผลสรุปทั้ง 3 ข้อมีดังนี้
1) ค่าตอบแทนไม่ใช่ทุกอย่าง!
– ประเด็น 3 อันดับแรกที่คน Gen Z ให้ความสำคัญและมีความต้องการมากกว่า 51% คือ การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต (mental health support)
– มากกว่าร้อยละ 61 ระบุว่า การได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและสวัสดิการที่ยุติธรรมก็ถือว่าตอบโจทย์ชีวิตเขาแล้ว
– ส่วนการทำงานระยะไกล หรือแบบ Remote Work ที่เรามักคิดว่าเป็นสิ่งที่คนเจนนี้ต้องการ การศึกษากลับพบเพียง 34% ที่คิดการทำงานจากระยะไกลให้ประโยชน์กับเขา และน้อยกว่า 30% ที่ต้องการทำงานแบบ Remote Work
บทสรุป — เห็นได้ชัดว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่ดี (mental health) และสุขภาพกายที่แข็งแรง (wellness) มาเป็นอันดับต้น ส่วนค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและสวัสดิการที่ยุติธรรมเป็นเรื่องรอง…
2) สมดุลของชีวิตและงานคือสิ่งที่ต้องการ!
– เมื่อคน Gen Z พูดถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต พวกเขาไม่ได้หมายความถึง “การดูแลตนเองแบบทั่วๆไป แต่คือการดูสุขภาพจิตที่มีพื้นฐานทางการแพทย์
– และสิ่งที่เขาต้องการคือ ความชัดเจนของวันลาป่วย (ที่ไม่ใช่การเอาวันลาพักร้อนมาใช้) การลาป่วยแบบยังได้รับค่าตอบแทนอยู่ หรือสวัสดิการด้านสุขภาพจิต เช่น การบำบัด การปรับสมดุล หรือการพบจิตแพทย์
บทสรุป — การได้ทำงานกับองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน รวมทั้งความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตของตนเอง สิ่งที่จะทำให้คน Gen Z ถอยหนีคือ การทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น ผู้นำที่เป็น Toxic เพื่อนร่วมงานที่เป็น Toxic การล่วงละเมิด และการเลือกปฏิบัติ
3) ไม่ต่อต้านการทำงานแบบเดิม แค่มองหาองค์กรที่เปิดกว้าง!
– คน Gen Z ไม่ได้ต่อต้านรูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม พวกเขาแค่ต้องการให้บริษัท ลองใช้เวลาในการทำความเข้าใจว่าคน Gen Z “ให้ความสำคัญกับอะไร” “และทำไมถึงให้ความสำคัญเรื่องนี้” เพื่อออกแบบวิธีการทำงานที่ตอบสนองความคาดหวังของคน
– และสิ่งที่คน Gen Z กำลังเรียกร้องไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ส่วนตน แต่เพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในทีม และพวกเขาเต็มใจที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
บทสรุป — คน Gen Z ไม่ได้เป็นเจเนอเรชันที่หลีกหนีการทำงานหรือลาออกจากองค์กรแบบเดิม แต่พวกเขาเลือกงานหรือองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับคนทำงานมากกว่า
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.