องค์กรต่าง ๆ กำลังปรับตัวเพื่อสอดรับเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงโลกของ VUCA ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและต้องปรับตัวให้ไว บางที่กำลังเริ่มทำ Corporate Innovation หรือการส่งเรือเล็กออกจากฝั่งเพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มี Potential คล้ายกับการทำ Startup อย่างไรก็ตามแม้โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุก ๆ องค์กรในยุคนี้ โอกาสทางธุรกิจเก่า ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือ Cash Cow ขององค์กรก็ทิ้งไม่ได้เช่นเดียวกัน คำถามคือ เราจะทำอย่างไรจึงจะ Balance สองอย่างนี้ได้
🔰 VUCA คืออะไร?
Volatile, Uncertain, Complex และ Ambiguous คือ นิยามของโลกยุคปัจจุบัน ด้วยความที่เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดเวลา นั่นทำให้โครงสร้างตลาด และโอกาสทางธุรกิจถูก Disrupt กันอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้หลาย ๆ โมเดลทางธุรกิจอาจจะไม่สามารถที่จะนิ่งนอนใจได้อีกต่อไปว่าธุรกิจเราจะอยู่ได้ถึง 3 ปีข้างหน้าอีกหรือไม่ ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์จึงพยายามสร้าง Innovation Program ต่าง ๆ ภายในองค์กรเพื่อมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งแม้จะเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาดมากสำหรับโลกยุคนี้ แต่บนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กรก็จะต้องสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน
องค์กรส่วนใหญ่ที่ก่อตั้งมานานแล้วมักจะมีข้อได้เปรียบที่องค์กรอย่าง Startups ไม่มี เช่นข้อได้เปรียบด้าน Supply Chain ที่แข็งแรงเพราะมีการต่อตั้งมานานแล้ว ข้อได้เปรียบด้านของพาร์ทเนอร์ ฐานลูกค้า กำลังคน และข้อได้เปรียบด้าน Ecosystem อื่น ๆ และที่สำคัญมีระบบการทำงานมีทำสิ่งที่มีอยู่แล้วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ความแข็งแกร่ง และข้อได้เปรียบเหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ที่ตามหา New Business ได้เปรียบ Startups อย่างมาก
แต่เช่นเดียวกับที่หลาย ๆ องค์กรอาจจะเคยประสบในระหว่างการทำ Innovation Program คือการที่ความสามารถที่ช่วยให้พนักงานเราใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเหล่านี้ได้ อาจจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคุณสมบัติที่เหมาะกับโลก VUCA เลย โดยเฉพาะลักษณะงานที่จำเป็นต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำมาก ๆ เพราะมีความเสี่ยงสูง เช่น โรงงาน หรือสถาบันทางการเงิน ความละเอียด และระเบียบเป๊ะอาจจะเป็นคุณสมบัติที่ลูกค้าเลือกที่จะไว้ใจเรา แต่เมื่อเราพยายามส่งเสริม Innovation ผ่านการฝึกให้พนักงานคิดไว ทำไว หรือ Agile มากขึ้นอาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจหลักของบริษัทด้วย นั่นคือความท้าทายหลักของการที่องค์กรจะปรับตัวสู่โลก VUCA ได้ในมิติของด้านคน ว่าเราจะพัฒนาคนของเราให้เก่งในธุรกิจเดิม หรือให้เป็น Innovator ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับองค์กร
🔰 Disrupt หรือ Sustain
จากหนังสือ Zone to Win: Organizing to Compete in an Age of Disruption ของ Geoffrey Moore ที่พูดถึงการแบ่งโซนของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อการรับมือกับโลก Disruption โดยหลัก ๆ จะแบ่งเป็นซีก Disruptive หรือหน่วยธุรกิจที่ทำในด้านการ Incubation และ Transformation และอีกฟากนึงคือซีก Sustaining ที่โฟกัสกับ Performance และ Productivity โดยแน่นอนว่าธุรกิจในทั้งสองฟากก็จะต้องอาศัยทักษะ และคุณลักษณะที่แตกต่างกัน และกลับมาที่ปัญหาของเราคือการที่เราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนถึงจะได้ผลลัพท์ที่ดีกับทั้งสองซีกได้ในเมื่อทั้งสองซีกก็เป็นองค์กรเดียวกัน และมีเป้าหมายในระยะยาวไปในทิศทางเดียวกัน
คำตอบคือวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กร หรือวัฒนธรรมองค์กรที่สอดรับกับ Vision/Mission ขององค์กรที่ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็ตามในองค์กรก็จะเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพราะวัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่จะเชื่อมโยงผู้คนในองค์กรเข้าด้วยกัน การออกแบบค่านิยมขององค์กรจึงต้องพิจารณาทั้ง Value Proposition ขององค์กรทั้งที่มีอยู่แล้ว และกำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นค่านิยมที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจขององค์กรจริง ๆ
แต่แน่นอนว่าการมีค่านิยมที่ครอบคลุมทุกธุรกิจขององค์กรนั้นจะต้องแลกมากับความคลุมเครือของค่านิยมที่จะไม่สามารถเห็นภาพชัด ๆ ได้ว่าพนักงานจะสามารถนำค่านิยมนี้มาใช้ประโยชน์ในงานของพวกเขาได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการออกแบบชุดพฤติกรรมที่ชัดเจนขึ้นมาเพื่อให้พนักงานตีความได้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณากับการออกแบบชุดพฤติกรรมที่ดีคือ #ชุดพฤติกรรมนั้นต้องมีความเป็นสากลมากพอที่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนขององค์กรจริง ๆ ซึ่งในการออกแบบตรงนี้ต้องอาศัยการพูดคุยกับพนักงานที่อยู่หน้างานของทั้งสองส่วน รวมไปถึงผู้บริหารที่มองเห็นภาพใหญ่ เพื่อสร้างชุดพฤติกรรม และวัฒนธรรมองค์กรที่ตอบโจทย์คนทั้งสองซีกขององค์กรเราได้จริง ๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพิจารณาธุรกิจของเราโดยรวมแล้วอาจจะพบว่า Teamwork ควรที่จะเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กรของเรา เพราะไม่ว่าทั้งการสร้างนวัตกรรม หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพก็สำคัญ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องมาออกแบบต่อไปด้วยว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว Teamwork นั้นแปลว่าอะไร พนักงานของเราต้องทำพฤติกรรมแบบไหนถึงจะเรียกว่าพวกเขามี Teamwork แล้ว และในขั้นนี้เราต้องพิจารณาทั้งสองบริบทเข้าด้วยกันทั้งฝั่ง Sustaining และ Disruptive เช่น หนึ่งในพฤติกรรมของ Teamwork เราอาจจะเป็นการ “สื่อสารกับทีมเมื่อเจอปัญหาและหาทางออกร่วมกันทันที” และย้อนกลับไปตอบคำถามให้ได้ว่าพฤติกรรมนี้จะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่ายในองค์กรจริง ๆ ใช่ไหม
ปัจจุบันองค์กรต้องรับมือกับโลก VUCA ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และการออกแบบวัฒนธรรมองค์กรที่ทั้งเอื้อให้เกิด Innovation ไปพร้อม ๆ กับส่งเสริมธุรกิจเดิมนั้นสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความพยายาม และความจริงจังจากทุก ๆ Stakeholders โดยต้องอาศัยการเข้าใจองค์กร และเป้าหมายในระยะยาวอย่างดี และสำหรับใครที่กำลังมองหาแนวทางตั้งต้นว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตได้ดีในโลก VUCA ที่ผ่านมาทางเพจ A Cup of Culture เราเคยได้พูดถึงเรื่องนี้กันไปแล้ว โดยรายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ brightsidepeople.com/ผู้นำสายพันธ์ใหม่-ในโลก/
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporate culture
organizational culture
.
.
>>>