คำว่า “Burnout” หรือ ภาวะหมดไฟ เป็นคำที่เราได้ยินเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน สภาวะหมดไฟที่เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ความรู้สึกหมดแรงที่ใช้เวลาพักผ่อน 1-2 วันแล้วก็หาย’ แต่มันเป็น ‘ความรู้สึกหมดพลังใจ’ ที่ต้องอาศัยการกลับมารับรู้ตนเองภายในถึงจะนำไปสู่การบริหารจัดการตนเอง ไปสู่ทางออกได้…
ซึ่ง ภาวะหมดไฟ มักเกิดจากความรู้สึกต่อตนเองว่า “ฉันไม่สามารถจัดการงานต่าง ๆ ได้ทันเวลา หรือไม่สามารถทำทุกอย่างได้สำเร็จตามที่คาดหวังไว้” ทำให้มีความเครียดสะสม ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน “ภาวะหมดไฟ” ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นและทำให้คนผู้นั้นเริ่มมีการแสดงออกผิดปกติ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากด้านร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ และความคิด…
- ด้านร่างกาย เช่น เหนื่อยล้า ไม่สดชื่น หลับยาก หรือไม่อยากกินอาหาร
- ด้านพฤติกรรม เช่น แยกตัว อยากอยู่คนเดียว หรือขาดความรับผิดชอบในงาน
- ด้านอารมณ์ เช่น หดหู่ เศร้า น้อยใจ หรือขาดแรงจูงใจในการทำงาน
- ด้านความคิด เช่น มองงานในแง่ลบ มองคนอื่นในแง่ร้าย หรือสงสัยความสามารถตนเอง
บทความจาก Harvard Business Review ได้ศึกษาผลวิจัยที่ชื่อว่า Leading Through Burnout (การนำไปสู่ภาวะหมดไฟ) โดย K. Wiens Dissertation ที่ได้ลงไปประเมินระดับความเครียดของหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (Chief Medical Officers: CMOs) ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 35 แห่ง สิ่งที่เขาพบคือ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์มากกว่า 69% ประเมินระดับความเครียดตนเองในเกณฑ์มีความเครียดมาก – เครียดสูง – เครียดอย่างถึงที่สุด แต่หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์เหล่านี้กลับระบุว่า “พวกเขาไม่ได้มีภาวะหมดไฟในการทำงานเลย เพราะเขารู้วิธีจัดการอารมณ์ภายในตนเอง” ซึ่งข้อสรุปจากงานวิจัยชิ้นนี้ที่สามารถช่วยให้เราจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานได้คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อันนำไปสู่ความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
ภาวะหมดไฟในการทำงานจัดการอย่างไร?
“ภาวะหมดไฟ” เป็นผลมาจากความกดดันภายจิตใจและอารมณ์ของตัวเราเอง หลายคนใช้วิธีหลีกหนี (flight) ด้วยการแยกตัว ใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มมึนเมาเป็นทางออก ในขณะที่อีกคนยอมรับ (Fight) พยายามค้นหาสาเหตุของความเครียดและแก้ไข และอีกมากที่ใช้วิธีเก็บกด ระงับ หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โทษผู้อื่นเพื่อให้รู้สึกสบายใจ (ซึ่งแก้ไขได้ชั่วคราวก็จะกลับมาเครียดอีก) ซึ่งจากบทความนี้นำเสนอ 6 วิธี ที่จะช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ และช่วยจัดการกับภาวะหมดไฟในการทำงานได้ได้แก่
1. อย่าเป็นต้นเหตุของความเครียดเสียเอง
โดยเฉพาะคนที่มีความคาดหวังสูงในการจะบรรลุเป้าหมายและไปให้ถึงความสำเร็จที่ต้องการ หรือคนที่มีลักษณะ Perfectionist กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะสร้างความเครียดให้กับตนเอง ฉะนั้น อย่าให้ความคาดหวัง ความเพอร์เฟ็คมาเป็นสาเหตุของความเครียด
2. รู้ข้อจำกัดของตนเอง
การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน หรือข้อจำกัดของตนเอง จะช่วยให้เรารู้ว่าเราต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อใด
3. กลับมาอยู่กับลมหายใจ
การสูดลมหายเข้าลึก – ออกยาว ช่วยชะลออัตราการเต้นของหัวใจและช่วยลดระดับความตึงเครียดภายในลงได้ ดังนั้น ในการใช้ชีวิตประจำวันให้คุณคอยกลับมาตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่เสมอ และคอยกลับมารับรู้ลมหายใจเข้าออก
4. ประเมินมุมมองของตนเองต่อสถานการณ์ตรงหน้า
มุมมองของคุณที่ว่า “สถานการณ์นี้คือภัยคุกคาม? หรือสถานการณ์นี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไข?” ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่คุณจะได้รับแตกต่างกัน เพราะมุมมองและวิธีคิดของคุณนำพาไปสู่วิธีการที่คุณจะตอบสนองต่อสถานการณ์ผลลัพธ์ที่จะได้รับ
5. ลองเอาตนเองเข้าไปอยู่บทบาทผู้อื่น
ปัญหาความขัดแย้งในทีทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทะเลาะกับหัวหน้า เป็นศัตรูกับเพื่อนร่วมงาน หรือมีปัญหากับป้าแม่บ้านประจำออฟฟิศ ล้วนนำพาไปสู่ความเครียดได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่หากความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาวิธีลดระดับความขัดแย้งให้เร็วที่สุด เช่น พยายามทำความเข้าใจมุมมองขออีกฝ่าย ไม่เพิ่มระดับความขัดแย้งให้มากขึ้น ฝึกทักษะความเห็นอกเห็นใจในตัวเอง เป็นต้น
6. พิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการลาออก
หากท้ายสุดแล้วภาวะหมดไฟยังคงอยู่ ให้ประเมินตนเองและงานที่ทำอยู่ เพื่อดูว่าเรายังเหมาะสมกับงานที่นี้หรือไม่? โดยเริ่มจากการกลับมาถามตนเองว่า “งานที่ทำอยู่มีผลดีต่อตนเองอย่างไรบ้าง? และเกิดผลเสียต่อตนเองอย่างไรบ้าง?” สำคัญคือต้องตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติ
:::::::::::::::
บทสรุป – การรู้เท่าทันภาวะหมดไฟในการทำงาน ยิ่งรู้ไวเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะแปลว่าคุณจะได้สามารถจัดการได้อย่างทันถ่วงที สุดท้าย “ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อันนำไปสู่ความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม” ไม่ใช่สิ่งที่สร้างวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะแข็งแกร่งเลย ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ความอดทน การให้อภัยต่อตนเอง(หากวันนี้ยังทำไม่ได้) และความใจดีต่อตนเองเป็นอย่างมาก
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.