เข้าซื้อทวิตเตอร์ได้ไม่ทันไร Elon Musk ก็สร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำ (ในแง่ลบ) กับพนักงานใหม่ของเขาทันที เพียงสัปดาห์เศษในฐานะซีอีโอคนใหม่ เขาปลดพนักงานไปแล้วทีเดียวกว่า 3,700 คน และเมื่อเร็ว ๆ นี้อีลอนก็ส่งอีเมลเวียนหาพนักงานในเวลาตีสองสามสิบเก้านาที ชนิดที่บรรดา leadership experts นิยามตรงกันว่าเป็นอีเมลทางการฉบับแรกจาก CEO ถึงลูกน้องที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยเห็นมา
พนักงานคนหนึ่งกล่าวว่า “ไม่รู้จริง ๆ ว่านี่เป็นความตั้งใจของอีลอน หรือเป็นเพราะอีโก้ของเขามันใหญ่เกินจนบดบังความสมเหตุสมผลในการปฏิบัติต่อผู้อื่นกันแน่”
แน่นอนว่าหากพูดถึงเรื่องความเฉลียวฉลาดและความเก่ง ไม่มีใครปฏิเสธว่าอีลอนนั้นอยู่ในระดับโลกหรือเกินมนุษย์ทั่วไปด้วยซ้ำ ถึงขนาดที่คุณ Dolly Singh อดีต Talent Chief ของ SpaceX ที่ทำงานกับอีลอนกว่าห้าปีกล่าวว่ามัสค์คือส่วนผสมของ Albert Einstein, Nikola Tesla, และ John D. Rocketfeller ชัด ๆ
อย่างไรก็ดี ทุกคนก็คงเห็นตรงกันอีกว่าทักษะเรื่องคนของอีลอนนั้นแย่เอามาก ๆ เข้าขั้นติดลบ เป็นที่ประจักษ์เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน วันนี้เราจะหยิบยกเหตุการณ์การส่งอีเมลเวียนหาพนักงานของทวิตเตอร์ล่าสุดมาถอดเป็นบทเรียนกันว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและการสื่อสารทุกคนจึงเห็นตรงกันว่าสิ่งที่อีลอนทำนั้นจึงปราศจากซึ่งความสามารถในการสะท้อนถึงภาวะผู้นำโดยสิ้นเชิง
1. จั่วหัวอย่างไม่จริงใจ (An insincere introduction)
“Sorry that this is my first email to the whole company, but there is no way to sugarcoat the message” คือประโยคจั่วหัวอีเมลฉบับแรกของอีลอนซึ่งแปลได้ประมาณว่า ขอโทษที่อีเมลฉบับแรกของผมถึงทุกคนไม่สามารถเขียนให้ดูซอฟท์ลงกว่านี้ได้ ก่อนที่อีเมลฉบับดังกล่าวจะตามมาด้วยหลายประเด็นที่พาพนักงานตะลึงไปตาม ๆ กัน เช่น ให้พนักงานทุกคนทำงานให้หนักขึ้น ยกเลิกนโยบาย work from home ทั้งที่เพิ่งถูกประกาศให้เป็นนโยบายถาวรไปก่อนหน้านี้หมาด ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Andrew Brodsky แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารภายในองค์กรกล่าวว่า ในฐานะ CEO และเจ้าของบริษัท คุณมีทางเลือกมากมายว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไรเพื่อกำหนด mood and tone ของความสัมพันธ์กับพนักงาน การเปิดประโยคด้วยการกล่าวขอโทษแต่ตามมาด้วยคำสั่งเปลี่ยนแปลงกระทันหันยาวเหยียด ถ้ารู้สึกเสียใจจริง ๆ เนื้อความต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่มาอยู่ในอีเมลฉบับแรกอย่างแน่นอน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์กล่าว
2. เนื้อความที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวัง (An overly dark tone)
อีลอนกล่าวต่อว่า ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึงอาจเรียกได้ว่าเข้าขั้น “หายนะ” และทวิตเตอร์ที่มีรูปแบบธุรกิจแบบพึ่งพารายได้ค่าโฆษณา (Ad-driven business model) มีความเสี่ยงเป็นสองเท่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวใด ๆ ก็มีโอกาสสูงมากที่ทวิตเตอร์จะไปไม่รอดเมื่อคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่มาถึง
เอาจริง ๆ สิ่งที่อีลอนพูดก็ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด และหากพูดอย่างเป็นธรรม เมื่อองค์กรเผชิญหน้ากับวิกฤติ วิธีการสื่อสารที่ได้ผลดีที่สุดก็คือแบบตรงไปตรงมา (direct) อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผู้นำที่สื่อสารเป็นจะไม่ลืมสอดแทรกความเห็นอกเห็นใจ (compassionate) เข้าไปด้วย ในภาวะวิกฤติ ผู้นำที่ดีต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้พนักงานขึ้นมาบ้าง คือไม่ต้องถึงกับขายฝันหรืออยู่ในวิมานที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่ความรู้สึกปลอดภัยในระดับหนึ่งอย่างน้อยก็เป็นรากฐานสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องคิดเปลี่ยนแปลงอะไรใด ๆ
3. เลือกประกาศอย่างเฉียบพลัน (An abrapt RTO announcement)
ถ้าหากคิดว่าเนื้อหาสาระของอีเมลที่กล่าวมาข้างต้นว่าแย่แล้ว การเลือกประกาศข้อความเหล่านั้นออกมาอย่างปัจจุบันทันด่วนไม่ทันให้ตั้งตัวก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก อีลอนประกาศยกเลิกนโยบาย remote work กับพนักงานทุกคนมีผลวันที่ 11 พฤศจิกายน 2022
การประกาศของอีลอนแสดงให้เห็นถึงการยึดเอาอำนาจและแนวทางที่ตนเองเชื่อเป็นที่ตั้งเหนือความเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงว่าทั้งรูปแบบ พฤติกรรม และวิถีชีวิตการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา จริง ๆ แล้วหากอีลอนมองเห็นความจำเป็นในการกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศจริง ๆ ก็สามารถเลือกวิธีการสื่อสารที่ต่างออกไปได้ บทความต้นฉบับเขียนว่า inspire them with deeper values คือโน้มน้าวพนักงานด้วยคุณค่าที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของคุณ เช่น การมาพบปะทำงานด้วยกันก่อนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้น่าดีกว่าในแง่ของการสื่อสารและบริหารจัดการ เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Brodsky กล่าวเสริมว่าผู้นำที่ดีจะมุ่งเน้นพัฒนาความสัมพันธ์กับพนักงานในรูปแบบ exchange คือแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากกว่าชี้นิ้วสั่งให้ทำตาม
4. เลือกเวลาได้แย่ (Terrible timing)
และหากเชื่อว่าการสื่อสารแจ้งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันด้วยโทนเนื้อหาที่สิ้นหวังว่าแย่ที่สุดแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่แย่ที่สุดขั้นกว่าที่เกิดขึ้นกับพนักงานของทวิตเตอร์กับการได้รับอีเมลฉบับแรกของอีลอนในครั้งนี้ คือ ทุกคนได้รับอีเมลตอนตีสองครึ่ง นี่คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนจากอีลอนว่าเค้าเป็นพวกทำงานแบบ 24/7 และพนักงานทุกคนก็ต้องทำแบบนั้นเช่นเดียวกัน
จดหมายฉบับเดียวที่ถูกส่งไปถึงพนักงานทุกคน มัสค์ทำตรงกันข้ามแทบทุกอย่างกับสิ่งที่ผู้นำที่ดีโดยเฉพาะในมิติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคนควรจะทำ จริงอยู่ที่เขาอาจเป็นคนที่เฉลียวฉลาดและเก่งที่สุดในโลกจนยากจะหาใครมาเทียบ แต่การเป็นผู้นำที่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมว่าคนรอบข้างพร้อมร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันหรือไม่เลยแม้แต่นิดเดียว สิ่งที่อีลอนทำด้วยความหวังที่จะช่วยทวิตเตอร์ให้รอดจากคลื่นลมทะเล อาจเป็นการจุดไฟเผาบ้านตัวเองจนวอดวายก่อนที่พายุจะมาถึงก็เป็นได้
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
References:
https://www.theverge.com/2022/11/10/23451498/elon-musk-twitter-email-employees