คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่รู้สึกว่าช่วงหลัง ๆ มานี้ชีวิตเต็มไปด้วยความยุ่ง ความเครียด และไม่สามารถพักจากการทำงานได้เลย? หากคำตอบ คือ ใช่ ก็ยังพอมีข่าวดีเล็ก ๆ คือ คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะคนทำงานหลายต่อหลายคนกำลังประสบกับภาวะ workaholic หรือการทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนแม้จะต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพและเวลาชีวิตส่วนตัวที่ขาดหายไป ทั้งการพลาดนัดสำคัญ ๆ กับครอบครัวหรือเพื่อนบ่อยขึ้น ไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะให้ตัวเองได้กินอาหารดี ๆ ไปออกกำลังกาย หรือนอนหลับให้เพียงพอ
ซึ่งเจ้าภาวะ work’s always-on นี้เองที่เป็นปัจจัยนำพาไปสู่ toxic productivity ในที่สุด แล้วความน่ากลัวอยู่ตรงที่เรามักไม่ทันสังเกตหรือรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันด้วยซ้ำ เพราะบ่อยครั้งการทำงานแบบเกินพอดีกลับเป็นความสมัครใจของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในองค์กรที่มีรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด รูปแบบซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัวเลือนลางลงไปทุกที เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราทำงานจากบ้าน ในขณะที่หัวหน้าหรือทีมเข้าออฟฟิศกัน เราจะมีความรู้สึกอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าอยู่บ้านเราก็ทำงานได้นะ และเรากำลังทำงานอยู่จริง ๆ
จึงอาจกล่าวได้ว่า toxic productivity คือ ภาวะที่ทัศนคติหรือชุดความคิดของเราสั่งให้เราต้องทำอะไรบางอย่างไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดนั่นเอง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความอยาก productivity เป็นสิ่งที่ไม่ดี อันที่จริงแล้วการมีสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมากต่างหาก เพียงแต่ว่าหากการได้มาซึ่งสิ่งหนึ่งหมายถึงการต้องสละไปซึ่งอีกสิ่งหนึ่ง ทั้งการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ตลอดจนกระทบความสัมพันธ์กับแฟน เพื่อน หรือครอบครัว นี่ต่างหากคือปัญหา ก็พอจะสรุปได้ว่าเราไม่สามารถโฟกัสที่ผลลัพธ์ปลายทางได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจวิธีการเพื่อให้ได้มันมาเลย
ลองคิดดูว่าหากอดนอนเป็นระยะเวลานาน มีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกับคนรอบข้าง สังคมคนรอบตัวเริ่มหายไป สุขภาพเริ่มย่ำแย่ ต่อให้เราอยาก productivity แค่ไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์จะออกมาดีได้อย่างไรในเมื่อเราไม่มีแรงเหลือจะมอบให้แล้ว ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวและมุ่งสู่การสร้าง positive productivity ที่แท้จริง เรามาจัดลำดับความสำคัญของภาระหน้าที่เราด้วย the Eisenhower Matrix กันดีกว่า
The Eisenhower Matrix หรือตารางสี่ช่องจะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของงานที่เข้ามาได้อย่างชัดเจน และเลือกทำงานตามลำดับที่ได้ถูกแบ่งประเภทเอาไว้แล้ว ขอให้คุณหยิบกระดาษปากกาขึ้นมาแล้วเขียนตารางสี่ช่อง หรือเครื่องหมายบวกขนาดใหญ่ โดยในแนวนอน ฝั่งซ้ายจะเขียนว่า urgent ฝั่งขวาจะเขียนว่า not urgent ส่วนแนวตั้ง ด้านบนจะเขียนว่า important และด้านล่าง คือ not important เมื่อเขียนตามนี้แล้วคุณจะได้ตารางสี่ช่อง โดยแต่ละช่องหากเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา บนลงล่าง จะได้แก่
1. Urgent + important เร่งด่วนและสำคัญ คือ งานลำดับแรก ๆ ที่ต้องทำทันที โดยเราอาจรวมเอางานที่อาจจะไม่ด่วนมากแต่ง่ายมาก ๆ เช่น ตอบอีเมลหรือยิงนัดประชุมมาใส่ในช่องนี้เพื่อรีบเคลียร์งานยิบย่อยออกไปให้หมดเลยก็ได้
2. Not urgent + important ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ คือ งานที่สำคัญรองลงมา ไม่ต้องทำทันทีแต่ต้องลงเวลาว่าจะทำเมื่อไหร่ โดยมากจะเป็นงานที่มีเส้นตายแบบหลวม ๆ เช่น แผนโครงการใหญ่ ๆ ระยะยาว
3. Urgent + not important ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน คือ งานที่คุณสามารถถ่ายไปให้คนอื่นช่วยทำ หรือเก็บไว้ทำเอง แต่หลังจากที่ช่องแรกสุดหรือ เร่งด่วนและสำคัญเสร็จแล้วทั้งหมด
4. Not urgent + Not important ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ คือ อะไรก็ตามที่คุณสามารถเก็บไว้ทำท้ายสุดหรือไม่ต้องทำเลยก็ได้
และนี่ก็คือ the Eisenhower matrix เครื่องมืออย่างง่ายที่จะช่วยให้คุณจัดสรรภาระหน้าที่ต่าง ๆ ในวันที่อะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะถาโถมลงมาใส่ทั้งหมดจนไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี อย่างน้อย ๆ ก็จะได้เห็นภาพทันทีว่าอะไรที่เราต้องลงมือทำด้วยตัวเองเดี๋ยวนี้ หรืออะไรที่เราไม่ต้องทำหรือรอไว้ค่อยทำทีหลังได้ แค่นี้คุณก็จะรู้สึกเหมือนได้เวลาของตนเองกลับคืนมาบ้างไม่มากก็น้อย
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.